2.03.2555

กะเม็ง



กะเม็ง หรือกะเม็งตัวเมีย มีชื่อเรียกแตกต่างกันหลายชื่อ ขึ้นกับแต่ละท้องถิ่น
เช่น ทางภาคเหนือ เรียกว่า ฮ่อมเกี้ยว ทางพายับ เรียก หญ้าสับ



จีน เรียก บั้งกีเช้า ทางภาคกลาง เรียก กะเม็งตัวเมีย
กะเม็งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Eclipta prostrata Linn. ในวงศ์ Compositae
ซึ่งเป็นพืชในวงศ์เดียวกับ ทานตะวัน และดาวเรือง


กะเม็ง เป็นพืชขนาดล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นและกิ่งก้านสีเขียวปนน้ำตาลแดง เป็นพืชที่ขึ้นเองตามริมทาง พบในเขตร้อนถึงเขตอบอุ่นทั่วโลก ที่ชื้นแฉะ และที่รกร้างทั่วไป
อาจมีการเพาะปลูกไว้เพื่อใช้เป็นยา กระเม็งมีลำต้นอวบ เลื้อยแผ่บนดิน
ปลายยอดมักตั้งขึ้นตรง ใบออกตรงข้าม มีลักษณะเรียว ยาวประมาณ 4-10 ซม.
ถ้าเกิดในที่ชุ่มชื้น มีน้ำมากใบก็ใหญ่ เกิดในที่แห้งแล้งใบจะเล็ก
ฐานใบมีลักษณะเป็นรอยเว้าเข้า และบานออกเล็กน้อยทั้งสองด้าน
ปลายค่อนข้างแหลม ขอบใบมีรอยหยักตื้น ๆ ทั้งสองด้าน มีขนสั้น ๆ สีขาว
กะเม็ง ออกดอกเป็นช่อ จากซอกใบ หรือที่ยอดเป็นกลุ่มแน่นสีขาว
มีดอกย่อยคล้ายลิ้นเรียงตัวเป็นรัศมีสีขาวชั้นเดียว มีกลีบเลี้ยงสีเขียว
รองรับช่อดอก 5-6 กลีบ ผลมีสีเหลืองปนดำ เมื่อขยี้ดูจะมีน้ำสีดำออกมา

 

การเก็บกะเม็งมาใช้เป็นยานั้น จะเก็บมาใช้ทั้งต้นในขณะที่ต้นเจริญเต็มที่  เมื่อเก็บมาแล้ว ควรล้างดินออกให้สะอาดหั่นเป็นท่อนหรือชิ้นเล็ก ๆ ตากหรือผึ่งให้แห้ง เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น
เพื่อใช้เป็นยา ลักษณะของยาแห้งที่ดี ควรมีสีเขียว ไม่มีเชื้อรา และสิ่งอื่นเจือปน



สำหรับสรรพคุณทางยาของกะเม็งนั้นมีประโยชน์มากมายและ มีหลายประการด้วยกัน กะเม็งมีรสเปรี้ยว ชุ่มเย็น ใช้เป็นยาห้ามเลือด  บำรุงไต แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด แก้ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบเรื้อรังโรคผิวหนังผื่นคันจากการทำนาและรักษาผมหงอกก่อนวัย
วิธีและปริมาณที่ใช้ของกะเม็งนั้น จะใช้ทั้งต้นแห้ง 10-30 กรัม ต้มเอาน้ำกิน หรือจะนำมาบดเป็นผง ทำเป็นยาเม็ดลูกกลอน หรือกินเป็นผงก็ได้เป็นยาบำรุงเลือดอีกด้วย ห้ามเลือด ใช้ต้นสด ตำพอก หรือใช้ต้นแห้ง บดเป็นผง โรยที่แผล แก้บิดถ่ายเป็นมูกเลือด ใช้ต้นแห้ง 30 กรัม หรือ ต้นสด 120 กรัม ต้มน้ำกินติดต่อกัน 3-4 วัน แก้โรคผิวหนังผื่นคันจากการทำนา ใช้น้ำคั้นจากใบสดทาบริเวณมือและเท้าปล่อยให้แห้งก่อนและหลังการลงไปทำนา เป็นการป้องกันมือและเท้าเปื่อย
แต่ถ้ามือและเท้าเปื่อย จากการทำนาแล้ว ก็สามารถใช้น้ำคั้นจากใบทารักษาได้
โดยทาวันละ 2 ครั้ง จนกว่าจะหาย
บางครั้งยังนำพืช  ชนิดนี้มาใช้ย้อมผ้า
นำสารสกัดสีดำของกระเม็งทำเป็นหมึกพิมพ์ ฯลฯ                                                             
ชาวจีนได้นำกะเม็งมาใช้ในการแก้ผมหงอกก่อนวัย ทำให้ผมดกดำมาเป็นเวลานานและยังใช้จนมาถึงปัจจุบันนี้ โดยใช้น้ำคั้นจากต้นเคี่ยวหรือ ตำผสมกับน้ำมันงา หรือน้ำมันมะพร้าวทาศีรษะเป็นประจำ
มีรายงานการวิจัยพบว่า กะเม็ง สามารถแก้ความเป็นพิษที่ตับ ที่เกิดจากการทำให้เซลล์ตับเป็นพิษด้วยสารพิษบางชนิด ได้ผลดี มีรายงานว่า กะเม็ง มีฤทธิ์แก้ไข้ และแก้แพ้ในหนูถีบจักร และหนูขาวอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นข้อมูลที่ยืนยันได้ว่ากะเม็ง สามารถนำมาใช้ในการรักษาตับอักเสบ และโรคผิวหนังผื่นคันได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น