2.17.2555

พระราชปุชฉาของสมเด็จพระเพทราชา ตอนที่๑

"เป็นหนังสือเล่มเล็ก บาง จนแทบไม่สดุดตา
ณ ตลาดนัดเล็กๆแถวชานเมือง
ผู้เขียน ที่สอดส่ายสายตาหาหนังสือธรรมะ
บังเอิญได้พบหนังสือเล่มนี้
เมื่อนำกลับมาอ่าน ก็ยังความขนลุกขนพอง ด้วยความตื้นตัน
แต่ยังเป็นภาษาที่ ไม่ใช่จะอ่านเข้าใจได้ในคราเดียว
คนอ่าน จักต้องเป็นผู้ที่รื่นเริงในธรรมแท้ๆ
นั่นแหละ จึงจะมี่จิตกะใจในการอ่าน

ก็รู้สึกว่า เราน่าจะเก็บไว้ให้ดีดี
เผื่อหนังสือสูญหายไป เราก็จะได้หาที่อ่านง่ายๆ
และจะขอแบ่งเป็นตอนๆรวมแล้วเป็น ๘ ตอน"

ขอโมทนาสาธุ
ให้แก่ผู้ที่สนใจแลฝักใฝ่ในธรรม
ให้อานิสสงส์ในการอ่านธรรม
ท่วมท้นเติมเต็มทันตา
แลให้ถึงซึ่งพระนิพพาน ด้วยเทอญ
นิพพานปัจจโยโหตุฯ

เรื่องอัฏฐธรรมปัญหานี้
สมเด็จพระเพทราชา
ซึ่งได้เสวยราชสมบัติ
ณ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา
ต่อจากรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ได้ทรงดำรัสถามอัฏฐธรรมปัญหาแก่
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
วัดพุทไธสวรรค์
เมื่อ วันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘
 ปีมะเมียโทศกจุลศักราช ๑๐๕๒(พ.ศ. ๒๒๓๓)
แลสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ได้ถวายวิสัชนาแก้ปัญหานั้น
เป็นเนื้อเรื่องโดยพิศดารฯ

          ปัญหาที่สมเด็จพระเพทราชาทรงตรัสถามนั้น
มีทั้งหมด ๘ ข้อ ด้วยกันดังนี้

๑. ทางใหญ่อย่าได้เที่ยวจรฯ

๒. ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัดฯ

๓. หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหารฯ

๔. ไม้โก่งอย่าทำกงวานฯ

๕. ช้างสารอย่าผูกกลางเมืองฯ

๖. ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้นฯ

๗. ถ้าจะให้ล่มต้องบรรทุกแต่เบาฯ

๘. ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียฯ

         อัฏฐธรรมปัญหาเหล่านี้
ตามที่ปรากฏในคำวิสัชนา
จะเห็นได้ว่า
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ไม่เคยได้ยินมาก่อน
จึงสันนิษฐานได้ว่า
มิใช่เป็นปัญหาอันรู้จักกันแพร่หลายในครั้งนั้น
เช่นจะมีอยู่ในหนังสือเรื่องใดๆ เป็นต้น
หรือจะเป็นปัญหาที่ได้มาจากที่อืน
เช่นเมืองพม่า เขมร มอญ ลาว
ก็เหลือที่จะคาดคะเนได้ว่า
ปัญหาทั้ง ๘ ข้อนี้เดิมมาจากที่ใด

         น่าจะเป็นไปได้ว่า
เป็นทำนองพระราชนิพนธ์
ของสมเด็จพระเพทราชาเอง
เพราะถ้าเป็นของผู้อื่นเรียบเรียงถวาย
เห็นจะคงไม่กล้าใช้โวหารเช่นนั้น
ถ้าเป็นจริงอย่างนั้นแล้ว
ผู้อ่านก็จักได้ชื่อว่า
ได้อ่านพระราชนิพนธ์
ของสมเด็จพระเพทราชาเป็นครั้งแรก
ควรจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง
         สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
องค์นี้จะเห็นได้ในคำอาราธนาว่า
สมเด็จพระเพทราชาทรงเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง
ถึงกับยกย่องว่าเป็นอาจารย์ทีเดียว
และน่าจะเป็นองค์เดียวกันกับ
อาจารย์ของเจ้าฟ้าตรัสน้อย
พระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา
ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพงศาวดาร
กล่าวว่าเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก
คัมภีร์เลขยันต์
คาถาอาคมสรรพวิทยาคุณต่างๆเป็นอันมาก

         สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์นี้
อยู่วัดพุทไธสวรรค์
กุฏิที่ท่านอยู่เป็นตำหนัก
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังข้างใน
เห็นจะเป็นของสมเด็จพระเพทราชา
ทรงสร้างพระราชทาน
 ปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ฯ

หนังสืออัฏฐธรรมปัญหานี้
มีต้นฉบับหลวง
อยู่ในหอพระมณเฑียรธรรม
และที่หอสมุดวชิรญาณ
เห็นว่าเป็นหนังสือที่เก่า
และเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ
ใคร่ต่อการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์
จึงได้นำมาพิมพ์ไว้มิให้สาปสูญไป
แต่ต้องขออภัยต่อท่านผู้อ่านไว้ด้วย
เพราะหนังสืออัฏฐธรรมปัญหานี้
ได้พิมพ์ตามต้นฉบับ
ของจดหมายเหตุกรุงศรีอยุธยา
ฉบับพิมพ์ครั้งที่๒
ร.ศ.๑๓๑(พ.ศ. ๒๑๕๕)
ทั้งอักขระวิธี และทั้งบาลีปกรณ์
ซึ่งจะไม่ถูกต้อง
ตามหลักเกณฑ์และวิชาการนัก
แต่ก็พอได้ใจความ
จึงขออนุรักษ์
ตามหนังสือจดหมายเหตุกรุงศรีอยธยาเอาไว้
ขอขอบคุณและขออนุโมทนาฯ

โดยพระเมธีธรรมาจารย์
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม

พระราชปุชฉาของสมเด็จพระเพทราชา ข้อที่ ๑
พระราชปุชฉาของสมเด็จพระเพทราชา
พุทธศักราช ๒๒๓๓
ในวันอังคาร เดือน ๘ ขึ้ึ้นค่ำหนึ่ง ปีมเมียตรีนักษัตร

พระราชสมภารเจ้า นิมนต์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ให้เฉลยปัณหาปฤษณาธรรม ๘ ประการนี้

 ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร

ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด

หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร

ไม้โกงอย่าทำกงวาน

ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง

ถ้าจะให้เปนลูกให้เอาไฟสุมต้น

ถ้าจะให้ล่มต้องบันทุกแต่เบา

ถ้าจะเรียนโหรให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสีย


อนึ่งข้าพระเจ้าทุกวันนี้แสวงหาแต่ปฤษณาฉนี้
ด้วยข้าพระเจ้าฉิบหายเขลาปัญญานัก
จะทำประโยชน์ในชั่วนี้ ข้าพระเจ้ากลัวไภย ๔ ประการ
คือทุคคติไภย กิเลศไภย วัฏไภย อุปวาทไภย
แลข้าพระเจ้าจะแสวงหาแต่ประโยชน์ซึ่งจะไปข้างหน้า
ทุกวันนี้ข้าพระเจ้ามีเสบียงบรรทุกสำเภา
พอเลี้ยงอาตมาไปกว่าจะถึงฝั่งฟากโน้น
ด้วยยากแต่ต้นหนและนายเข็ม
ด้วยต้นหนข้าพระเจ้านี้ชั่วนัก
แลสมเด็จเจ้าสิเปนอาจารย์แห่งข้าพระเจ้า
แลข้าพระเจ้าขอความรู้ที่จะปฤกษาต้นหน
จะช่วยข้าพระเจ้าแล่นสำเภาไปให้ถึงฝั่งฟากข้างโพ้น
อย่าให้มีอันตรายกลางทางนั้นได้
กราบไหว้พระอาจารย์เจ้าออกมาเถิด

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ขอถวายพระพร
จำเริญพระราชศิริสวัสดิ์พิพัฒมงคลพระชนมศุขจงทุกประการ
แด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ผู้ประเสริฐ
ด้วยทรงพระกรุณาพระราชทานปฤษณา ๘ ประการ
ให้อาตมาภาพพิจารณาถวาย
อาตมาภาพยินดียิ่งนักหนาด้วยปฤษณานี้
อาตมาภาพมิได้พบมิได้เห็นแต่ก่อน แต่จะได้ฟังก็หามิได้
แลอาตมาภาพพิจารณาตามกิจคดีโลก เปนโลกโวหาร
ก็จะเปนอันหาแก่นสารหาประโยชน์มิได้
ด้วยอาตมาภาพได้รับพระราชเสาวนีว่า

ทุกวันนี้เสบียงข้าพเจ้า
บรรทุกสำเภาพอเลี้ยงอาตมาไปกว่าจะถึงฝั่งฟากโพ้นแล้ว
ด้วยยากแต่ต้นหนแลนายเข็ม

เหตุดังนี้อาตมาภาพจะขอพระราชทานพิจารณาอรรถแห่งปฤษณานี้
ตามพุทธฎีกาสมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าตรัสเทศนานั้นถวาย
จึงจะเปนต้นหน แลนายเข็มผู้หมั้นสันทัดฉลาด
อาจสามารถเพื่อจะนำสำเภาเภตรา
คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ
ให้เสด็จพระราชดำเนิน
ข้ามสมุทรสาครอรรณพสงสาร
คือจตุรโอฆทั้ง ๔ ประการอันมีนามบัญญัติ
คือ กาโมโฆ  ภโวโฆ  ทิฏโฐโฆ  อวิชโชโฆ
อกุศลธรรมทั้ง ๔ ประการนี้
ย่อมท่วมทับสัตว์ให้จมอยู่ในสงสารสาคร
อันฦกแลกว้างขวางยิ่งนักหนา
แลมิอาจเพื่อจะข้ามด้วย
สำเภาเภตรานาวายานอันเที่ยวทางชลธี
แลมีต้นหนแลนายเข็มอันเปนปรกตินั้นได้
แลพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ย่อมข้ามสงสารสาครสมุทนั้น
ด้วยพระธรรมนาวา  อันกล่าวคือพระปัญญา
อันตรัสรู้พระจตุราริยสัจธรรม ๔ ประการ
อันเปนนาวายานอันลำ้เลิศประเสริฐ
ยิ่งกว่านาวายานทั้งปวงอันมีในโลกนี้
อันว่าพระธรรมนาวาคือ
พระปัญญาอันตรัสรู้พระจตุราริยสัจนี้
ก็มีแต่ในกาลเมื่อ
สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าบังเกิดในโลกนี้
จึงมีพระธรรมนาวา เหตุดังนี้

๑) อาตมาภาพ จะขอพระราชทานถวายวิสัชนาในประถมปัณหา
ซึ่งว่า ทางใหญ่อย่าเที่ยวจรนี้
ด้วยมีพระพุทธฏีกา
สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้า
เมื่อได้ตรัสแก่สัพพัญญุตญาณแล้ว
แลตรัสเทศนาโปรดปัญจวัคคี
มีพระโกณฑัญเถรเปนประธาน
ในอิสีปตนมฤคทายวัน
มีพระพุทธฏีกาตรัสดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อันว่าทางสองทางนี้
เป็นทางลามกอันชั่ว
อันถดถ่อยยิ่งนักหนา
แลบุคคลผู้เปนบรรพชิต
ผู้จะบรรเทาบาปธรรมทั้งปวงเสีย
แลจะให้ถึงพระนิพพานด้วยฉับพลันนั้น
อย่าพึงส้องเสพ
เมาะว่าอย่าพึงได้ท่องเที่ยว
จรไปในทางสองทางนี้
แลทางสองทางนี้คือสิ่งใด
จึงตรัสวิสัชนาดังนี้

อันว่ากอประด้วยกามศุข
ในเบญจกามคุณทั้งหลาย
นั้นเปนอันชั่วถ่อย
เปนของชาวบ้าน
เปนของปุถุชน
มิใช่เปนของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
กอประด้วยหาประโยชน์มิได้
อันว่ากอประด้วยกามคุณศุขนี้
ก็เปนทางใหญ่ยาวยิ่งนักหนา
เหตุว่าบุคคลผู้กอประด้วยความศุขนั้น
ก็เที่ยวตายเที่ยวเกิด
เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร
หากาลที่จะสุดมิได้
ดุจบุคคลผู้เที่ยวจรไปในทางอันใหญ่
อันยาวแลหากาลที่จะถึงที่สุดมิได้นั้นแล
อธิบายว่ากอประด้วยกามศุขนี้
เปนทางใหญ่ อันลามก
 อันชั่ว ถดถ่อย
ประการหนึ่งแลฯ

อันว่าประด้วยวัตรปฏิบัติ
อันให้เกิดทุกลำบากแก่อาตมานั้น
คือวัตรปฏิบัติแห่งเดียรถีนิครณฐ์ทั้งหลาย
มิได้เปนวัตรปฏิบัติ
แห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย
แลกอประด้วยหาประโยชน์มิได้นี้
ก็เปนทางใหญ่
ทางยาวยิ่งนักหนา อันหนึ่ง
เหตุว่าบุคคลผู้ปฏิบัติผิดนั้น
ก็จะเที่ยวตาย เที่ยวเกิด
เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร
หากาลที่จะถึงที่สุดมิได้
ดุจบุคคลเที่ยวจร
ไปในทางอันใหญ่ยาว
แลหากาลที่จะถึงที่สุดมิได้นั้น

อธิบายว่า
กอประด้วยวัตรปฏิบัติอันผิดนี้
เปนทางใหญ่เปนทางอันลามก
อันชั่วถ่อยประการหนึ่งฯ
วิสัชนาให้รู้แจ้งว่า
กามสุขัลลิกานุโยค
แลอัตตกิลมถานุโยคนี้
เปนทางใหญ่อย่าให้เที่ยวจรไปนั้นแล

ขอถวายพระพร
ให้ทราบในพระญาณ
ด้วยปฤษณานี้ชื่อว่า อวุตตสิทธิ
ในคำอันมิได้กล่าวนั้น
ก็สำเร็จด้วยคำอันกล่าวแล้วว่า
ทางใหญ่อย่าเที่ยวจรนั้น
แม้นกล่าวแต่เพียงเท่านี้
แลมิได้กล่าวว่า
ให้เที่ยวจรแต่ทางอันอื่นกว่าทางใหญ่นี้ก็ดี
คำนี้ก็สำเร็จด้วยคำว่าใหญ่อย่าเที่ยวจรนั้น
ทางนี้ห้ามแต่ทางใหญ่อันเดียวนั้น
มิได้ห้ามทางอันอื่นกว่าทางใหญ่นั้น
เหตุดังนั้นนักปราชญ์ผู้มีปัญญา
พึงรู้ตามพุทธฎีกาอันตรัสเทศนาว่าฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อันว่ามัชฌิมปฏิบัติ
อันพระตถาคตตรัสรู้นี้
มิได้แปดปนด้วยกามขุลลิกานุโยค
อันเปนลามก
ดุจทางอันกอประด้วยเปือกตม
แลอาจมเปนอสุจินั้น
แลมัชฌิมปัตติบัตินี้
มิได้แปดปนอัตตกิลมถานุโยค
อันเปนที่เกิดทุกข์ลำบาก
ดุจทางอันกอประด้วย
หลักตอเสี้ยนหนาม
แลจะไต่ตามเที่ยวจร
ไปเปนอันยากนัก
แลมัชฌิมปฏิบัตินี้
ประพฤติเปนไปใน
ท่ามกลางแห่งทางทั้งสองนั้น
แลมัชฌิมปฏิบัตินั้นคือ
พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการ
อันพระถาคตตรัสโถมนา
ด้วยพุทธฎีกาว่าฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าทางคือ
พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้
เสฏ์โฐเปนทางอันประเสริฐนักหนา
ยิ่งกว่าทางทั้งปวง อันว่าทางคือ
พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์ ๘ ประการนี้
เปนทางอันตรงอันซื่อไปสู่นิพพาน
มิได้คดคลาดแคล้วจากนิพพาน
อันว่าทางคือ
 พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้
เปนทางอันเดียวมิได้เป็นสองทาง
อันว่าสมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าก็ดี
พระปัจเจกโพธิเจ้าก็ดี
พระอรรคสาวกเจ้าก็ดี
พระอสีติมหาสาวกเจ้าก็ดี
พระปรกติสาวกเจ้าก็ดี
พระอริยเจ้าทั้งปวงนี้
ก็ย่อมไปสู่นิพพานด้วยทาง
คือ พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้ทางเดียว
มิได้ไปสู่นิพพานด้วยทางอื่นกว่านี้มิได้
อันว่าทางคือ พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้
ก็เปนไปเพื่อจะให้บริสุทธิ์แห่งญาณทัศนะ
คือ โสดามรรค โสดาผลนั้น
อันว่าทางคือ พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้
ก็ยังเสนามารให้หลง
เมาะว่าอกุศลธรรม
อันเปนเสนาแห่งกิเลสมารนั้น
มิอาจเพื่อจะเอาพระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนั้น
เปนอารมณ์ได้ดุจแมลงวัน
มิอาจเพื่อจะบินไปจับ
ลงไปในก้อนเหล็กแดง
อันเผาด้วยถ่านเพลิงร้อนอยู่ฉนั้น
เหตุดังนั้นจึงว่า
พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
ยังเสนามารให้หลง
มิให้รู้แห่งไปในทาง
คือ พระอัฏฐังคิกมรรคธรรมนั้นแล
อันว่าท่านทั้งหลายจงเที่ยวจรไป
เมาะว่าจงปฏิบัติตามทาง
คือ พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้เถิด
ท่านทั้งหลายจักกระทำ
ซึ่งที่สุดแห่งวัฏทุกข์ทั้งปวงนั้นแล
อันว่าพระตถาคตตรัสรู้ด้วยพระสยมภูญาณ
ว่า พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้
ย่อมย่ำยีเสีย ถอนเสียซึ่งปืนยาพิษ
คือราคตัณหาอันบังเกิด
ในสันดานแห่งสัตว์ทั้งหลาย
แล ยอกเสียดแทงจิตรแห่งสัตว์ทั้งหลาย
ให้เปนทุกข์ร้อนรนกระวนกระวายลำบาก
ดุต้องปืนกำทราบอันชุบด้วยยาพิษฉนั้น
ครั้นเจริญพระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการ
ให้บังเกิดในสันดานในกาลเมื่อใด
อันว่าราคตัณหาดุจปืนยาพิษนั้น
ก็รงับดับหายในกาลเมื่อนั้นแล
พระตถาคตตรัสเทศนา
ให้แจ้งแก่ท่านทั้งปวงดังนี้
แม้อันว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี
ก็ย่อมตรัสเทศนาดังนี้
อันว่าบุคคลทั้งหลายหมู่ใด
แลปฏิบัติตามพระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการ
บุคคลทั้งหลายหมู่นั้น
ก็พ้นจากบ่วงมารนั้นแล
อันว่าบุคคลผู้มีปัญญา
เลงเห็นซึ่งประมาทนั้นว่าเปนที่เกิดไภย
ครั้รเลงเห็นดังนั้นแล้ว
ก็พึงเจริญพระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการ
บุคคลผู้นั้นก็จะพ้นจาก
ไภยอันตรายทั้งปวงนั้นแล
อันนี้เปนคำสั่งสอน
แห่งสมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้า
ทั้งปวงทุกๆพระองค์แลฯ
อาตมภาพถวายวิสัชนาประถมปัณหา
ด้วยพระธรรมเทศนานี้
เพื่อจะเปนต้นหนแลนายเข็ม
สำหรับสำเภาเภตรา
คือพระบวรอาตมาพระองค์์ผู้ประเสริฐ
วิสัชนาประถมปฤษณาสำเร็จเท่านี้ก่อนแล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น