2.08.2555

บัวพ้นน้ำ

"พุทโธ"
ของชีวิตแต่ละคนอาจมีเป็นแสนๆเป็นล้านๆครั้ง
แต่จะมีเพียงหนึ่ง"พุทโธ"ครั้งสำคัญ
ที่พลิกชีวิตให้กระจ่างในธรรมตลอดไป

พระรัตนตรัยเปรียบเสมือนพระอาทิตย์
สาดแสงสว่างขับไล่ความมืดมิดให้หายไป
มีพลังดึงดูดมหาศาล จับจิตจับใจ
จนไม่สามารถหันเหจิตใจไปทางอื่นได้
ยิ่งมีเมตตาเเท่าไร ก็ยิ่งเข้าใกล้พระธรรมมากเท่านั้น
เพราะเมตตาเป็นตัวบ่งบอกว่า ความเห็นแก่อัตตามีมากน้อยเท่าไร
การแผ่เมตตาทำได้ง่ายแต่เข้าถึงจิตใจยาก
แม้แต่พระอริยะเจ้าบางท่าน กว่าจะเข้าใจเรื่อง"เมตตาธรรม"
ก็เกือบพลาดท่าให้กับอัตตาที่ติดแน่นด้วยโทสะ

การแผ่เมตตาให้บังเกิดผล โดยให้ทำตนและจิตใจให้เหมือนมารดาที่เลี้ยงลูก ให้ความรัก เอ็นดู สงสาร
มุ่งหวังให้ลูกสุขกายสบายใจ
อันเป็นความรักที่บริสุทธิ์ไม่มีพิษภัย
และไม่ต้องการผลตอบแทนจากลูก

 ถ้าเราแผ่เมตตาเหมือนกับพระอาทิตย์กำลังส่องแสง
ไม่ได้เลือกชุมชน สรรพสัตว์ยากดีมีจน จะใกล้หรือไกล
ก็ได้รับความอบอุ่นเท่ากัน
เมตตานั้นจะมีพลังสูงยิ่ง
ใครจะได้รับมากน้อยสุดแต่วาสนาบารมีของผู้นั้น

อย่างน้อยเราควรมีศีลห้า และศีลนั้นควรบริสุทธิ์
หากมีศีลบริสุทธิ์ ก็ต้องรักษาจิตให้บริสุทธิ์ด้วย
ระวังอย่าให้จิตเอนเอียงไปหารากเหง้าแห่งกิเลส

ต้องตรวจความเห็นของตนว่า
มีความบริสุทธิ์หรือไม่
เมื่อความเห็นของเราตรงต่อคุณธรรมจริง
จิตก็สงบเป็นสมาธิง่าย


สติปัฏฐานเป็นที่ตั้งของ
สมาธิ สติ สัมปชัญญะ
และปัญญา ในคราวเดียวกัน
นับเป็นบันไดขั้นแรก
ที่เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติธรรม
จนถึงขั้นสุดท้าย
ที่ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องดำรงสติให้มั่นคง
ที่ละเล็กทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง




เหมือนเริ่มต้นด้วยน้ำเพียงหยดเดียว
หากเรามีสติเพียงหยดเดียว
บนทะเลทรายแล้วปล่อยทิ้ง
เท่ากับสิ่งที่ฝึกมา
ไม่ว่าจะกี่สิบปี
ก็ล้วนเสียเวลาเปล่า

แต่ถ้าเราค่อยๆเพิ่มน้ำทีละหยดจนเต็มแ้ก้ว
จากแก้วมาเป็นโอ่ง
จากโอ่งเป็นสายน้ำที่ต่อเนื่องไม่ขาดสาย
สามารถพลิกฟื้นทะเลทราย
กลายเป็นดินอุดมแห่งนิพพานได้ในที่สุด


ทั้งยังเป็นเนื้อนาบุญให้สัตว์โลกอื่น
ได้พักพิงอาศัยอีกด้วย

ต้องเข้าใจพระไตรลักษณ์ตั้งแต่ต้น
เพื่อกันการหลงทาง
แม้จะเกิดวิปัสสนูกิเลส
ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงสำคัญ
ว่าตนเองเข้าถึงภูมิธรรมสูงแล้วก็ตาม
พระไตรลักษณ์ที่พิจารณามาตลอด
จะช่วยยับยั้งว่า ธรรมะ-ตัวตนที่ปรากฏนั้น
เข้าข่ายไตรลักษณ์หรือไม่




"ดินหนุนดิน คือสังขารทั้งหลาย
ที่มีวิญญาณครอง และไม่มีวิญญาณครอง
เพราะธาตุทั้งสี่รวมกัน โดยมีธาตุดินเป็นธาตุนำ
เพราะเป็นของแข็งเหมือนเอาดินก่อก่ายกันขึ้นมา
ส่วนธาตุนอกนั้นเป็นธาตุอาศัย"

"อริยธรรม"ไม่ได้ตั้งอยู่บนหัวหลักหัวตอ
ขี้ดิน ขี้หญ้า ฟ้าแดดดินลม
พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวเดือนที่ไหน
ตั้งอยู่ที่คนนี่เอง ไม่เลือกสถานที่อริยาบท"

"กิเลสเท่ามหาสมุทร แต่ความเพียรเท่าฝ่ามือ
มันห่างไกลกันขนาดไหน
คนสมัยนี้ เพียงใช้ฝ่ามือแตะมหาสมุทร
ทำความเพียรเพียงเล็กน้อย
แต่หมายมั่นปั้นมือว่าจะข้ามโลกสงสาร
เมื่อไม่ได้ตามใจหวัง
ก็หาเรื่องตำหนิศาสนาและกาลสถานที่

~หลวงปู่มั่น~



การฟังธรรม
ไม่จำเป็นต้องฟังจากครูบาอาจารย์เสมอไป
เห็นอะไรดี อะไรชั่ว
ก็น้อมเข้ามาสอนตัวสอนตน
ก็จะได้อุบายเหมือนกัน


อย่าประมาทลืมตัวมัวเมาในความชั่ว
จงยกจิตให้สูงขึ้นด้วยความมีสติ
ละชั่ว ทั้งทางกาย วาจา ใจ
หมั่นใส่ใจในบุญในกุศลสุจริตธรรม


นำความชั่วออกด้วยสติวินัย
ทำกาย วาจา ใจ ให้สะอาด
เหมือนแก้วมณีสดใสเป็นประภัสสร
ถ้าเกิดมาชาติหน้าจะได้สมบัติดี
มีมนุษย์สมบัติไม่วิบัติ

แน่ใจต่อทางพ้นทุกข์ไม่สงสัย
แม้ในขณะยังไม่พ้นทุกข์ก็ตาม



ข้าวงอกขึ้นมาเพราะมีอะไรเป็นเชื้อพาให้เกิด
ใจที่พาให้เกิด- ตายไม่หยุดหย่อน
    ก็น่าจะมีอะไรเป็นเชื้ออยู่ภายใน
เช่นเดียวกับเมล็ดข้าว
   เชื้อนั้นถ้าไม่ถูกทำลายเสียที่ใจให้สิ้นไป
   จะต้องพาให้เกิดตายไม่หยุด
ก็อะไรเป็นเชื้อของใจเล่า
ถ้าไม่ใช่ กิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

หลวงปู่ขาว อนาลโย


นักปราชญ์ จะไม่หลงงมงาย
อยู่กับความรู้ภายนอกอันเป็นโลกีย์อภิญญา
จุดหมายปลายทางของปวงปราชญ์ราชบัณฑิต
อยู่ที่การกำจัดอาสวกิเลส
ที่หมักดองอยู่ในกมลสันดานของเราให้หมดสิ้นไป
สิ้นไปโดยไม่เหลือเชื้อต่างหาก



พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายที่เป็นอัจฉริยบุคคล
ท่านชอบอยู่ในป่าเปลี่ยว
อยู่ในถ้ำ เงื้อมผา รุกขมูล ต้นไม้
อยู่ในป่าชัฏ อยู่ในป่าช้า
อันเป็นสถานที่เตือนบอกถึงความตาย
ทุกวัน ทุกเวลา



การเกิดตายของสัตว์โลกเกลื่อนไปทั่วดินแดน
ไม่มีอะไรที่ไหนจะมากกว่าป่าช้าของสัตว์
ที่ตั้งหน้าตั้งตาตายกัน



แม้ที่เรากำลังนั่งอยู่นี้
ก็คือป่าช้าของสัตว์ชนิดต่างๆทั้งสิ้น
ไม่มีที่ว่างที่ไม่มีป่าช้าของสัตว์แทรกอยู่
แม้แต่ในตัวเรา ตัวท่านก็คือป่าช้าของสัตว์เราดีๆนี่แล
ก็เมื่อทุกหนทุกเเห่ง
มีแต่ที่เกิดที่ตายของสัตว์เช่นนี้
เราจะหาความสบายที่ไหนกัน



ถ้าธรรมเป็นเหมือนผลไม้
เป็นเหมือนบริษัทห้างร้าน
เป็นเหมือนสิ่งต่างๆในแดนสมมติ
ที่ตกอยู่ในกฏแห่งอนิจจัง
ธรรมก็ล้มหายตายซากไปนานแล้ว
ไม่มีใครได้ดื่มรส
แม้เพียงผ่านชิวหาปราสาทคือใจชั่วขณะเลย


หลวงปู่ชอบ ฐานสโม



"ทั้งหมดข้างบนนั้นเป็นเพียงการบันทึกการอ่านนะคะ
ก็เพื่อจะได้กลับมาอ่านแล้วอ่านอีกจนกว่าจะพอใจ
เพื่อนๆก็จะได้อ่านด้วย
ใครหลายคนที่ยังไม่เคยอ่าน ได้อ่านแล้ว ชอบ ก็ยินดีด้วยค่ะ"


บันทึกบางตอนจากหนังสือ"วินาทีบรรลุธรรม"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น