8.16.2555

พระราชปุชฉาของสมเด็จพระเพทราชา ข้อที่ ๕

อาตมาภาพ ขอถวายวิสัชนา
ปัญจมปัณหาปฤษณาคำรบ ๕ ว่า
ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง นั้น

เหตุว่าช้างทั้งหลายนี้มิได้ยินดีจะอยู่ในเมือง
และช้างทั้งปวงนี้ย่อมยินดีอยู่ในป่า
ปฤษณานี้เปนอุปมาต่่อโยคาวจร
อันเจริญวิปัสนากรรมฐาน
แลปัญญาอันชื่อนิพพิทาญาณนั้น
มีในบาฬี พระคัมภีร์วิสุทธิมัคค ดังนี้



อันว่าพระยาช้างฉัททันต์ตัวนั้น
อันขาวล้วนถ้วนทั่วตัว 
แลมีที่ตั้งเจ็ดแห่ง
คือ เท้าทั้ง ๔ แลงาสองข้างแลงวง
แลมีฤทธิ์อานุภาพ 
เหาะเหินเที่ยวไปในอากาศ
แลพระยาช้างฉัททันต์นั้น
มิได้ยินดีจะอยู่ภายในเมือง
แลพระยาช้างฉัททันต์นั้นก็ยินดีใน
ฉัททันต์สระในหิมวันตประเทศนั้น

แลมีอุปมาดุจใด
อันว่าพระยาช้างก็คือ
โยคาวจรอันได้นิพพิทานุปัสนาญาณแล้วนั้น
มิได้ยินดีในสังขารธรรมทั้งปวง



แลช้างสารคือ
โยคาวจรนั้นก็ยินดีในฤพาน
อันรงับดับกิเลสธรรม
อันให้เดือดร้อนกระวนกระวายนั้นเสียแล้ว
แลบังเกิดเปนอันเย็น 
อันเล็งเห็นด้วยไนยเปน 
อาทิว่า ฯ อนุป์ปาโทเขมํ อุปปาโทภยํ
อันว่ามิได้บังเกิดนั้น เปนอันเขษม
ปราศจากไภยทั้งปวง
คือชาตไภย ชราไภย 
พยาธิไภย มรณไภย



อันว่าบังเกิดนั้นกอประด้วย
ชาตไภย ชราไภย 
พยาธิไภย มรณไภย
แลใจแห่งโยคาวจรนั้น
ก็โน้มไปสู่นฤพาน 
อ่อนไปสู่นฤพาน 
เงื้อมไปสู่นฤพาน
ก็มีอุปไมยดุจพระยาช้างฉัททันต์
อันบมิยินดีจะอยู่ในเมือง
แลยินดีในฉัททันต์สระ
ในหิมวันตประเทศนั้น



เหตูการณะดังนี้
อันว่าโยคาวจร
ผู้ปรารถนาพ้นจากวัฏสงสาร
ก็พึงเจริญวิปัสนากรรมฐาน
ให้ได้นิพพิทานุปัสนาญาณ
อันหน่ายในสังขารธรรม
แลมิให้จิตรผูกอยู่ใน
สังขารธรรมทั้งปวง
แลให้จิตรยินดีในนฤพาน
อันนี้ชื่อว่า
ช้างสารอย่าผูกไว้กลางเมืองนั้นแล



อันว่ากลางเมืองนั้นคือ สังขารธรรม
อันว่าช้างสารนั้นคือ โยคาวจร
อันว่าอย่าผูกนั้นคือ 
นิพพิทานุปัสนานั้นแล

สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้า
ตรัสเทศนาโปรด 
อุคเสนเศรษฐีบุตร ดังนี้
ดูกรอุคเสนเศรษฐีบุตร
ท่านจงอย่าผูกจิตรไว้ในสังขารธรรมคือ
ปัญจขันธ์อันล่วงไปแล้วในอดีตกาลนั้นก็ดี
ท่านจงอย่าผูกจิตรไว้ในสังขารธรรมคือ
ปัญจขันธ์อันจะบังเกิดในอนาคตกาลนั้นก็ดี
ท่านจงอย่าผูกจิตรไว้ในสังขารธรรมคือ
ปัญจขันธ์อันเปนปัจจุบันนี้ก็ดี



แลท่านจงละเสียอย่าผูกจิตรไว้ในสังขารธรรมคือ
ขันธะธาตุอายตนะอันมีในอดีต อนาคต ปัจจุบัน
ท่านจงถึงซึ่งฝั่งแห่งภวสาคร 
ด้วยปัญญา ๓ ประการ
คือ ญาตปริญญา ติรณปริญญา ปหานปริญญา
ท่านจงอย่าถึง
ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์
สืบไปเบื้องกว่านั้นเลย
อุคเสนเศรษฐีบุตร ลุถึงอรหรรตแล้ว
ก็บวชในพระศาสนานี้แล



อาตมาภาพ
ถวายวิสัชนาปัญจมปัณหาปฤษณาที่ห้า
ด้วยพระธรรมเทศนานี้
ขอจงเปนต้นหนแลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตราคือ
พระบวรอาตมา พระองค์ผู้ประเสริฐ
วิสัชนาปัญจมปัณหาปฤษณา
คำรบ ๕ สำเร็จแล้วแต่เท่านี้แล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น