อาตมาภาพ ขอถวายวิสัชนาจตุตถปัณหาคำรบ ๔ ซึ่งว่า ไม้โกงอย่าทำกงวานนั้น อธิบายว่า ให้เอาไม้ตรงนั้นอันซื่อนั้นทำกงวาน ปฤษณานี้เปนอุปมา เหตุดังนั้นอาตมาภาพจะถวายวิสัชนา เปนอุปมาอุปไมยให้แจ้งในพระญาณ สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้ประเสริฐ ![]() ชื่อว่ากงวานทั้งปวงนี้ก็เปนอุปการแก่สำเภา ให้แข็งให้มั่นคงมิให้ไหวจุลาจล อันว่าสำเภาอันหากงวานมิได้นั้น มิอาจทนทานกำลังระลอกในท้องทะเลนั้นได้ แลมิอาจข้ามทะเลไปได้ ก็จะแตกทำลายในทะเลนั้น เหตุว่าสำเภานั้นหากงวานมิได้ ![]() อันว่าสำเภาอันใด มีกงวานอันหมั้นคงสามารถ สำเภาลำนั้นก็จะอาจเพื่อจะทนทาน กำลังระลอกในท้องทะเลนั้นได้ ก็จะข้ามทะเลนั้นไปรอดฝั่งถึงฝั่งข้างโพ้น ตามความปรารถนาแห่งวานิชผู้เป็นเจ้าสำเภานั้น ![]() แลมีอุปมาดุจใด อันว่าอาตมาแห่งโยคาวจร ผู้ปรารถนาจะข้ามสงสารสาครนั้น ก็มีอุปไมยดุจสำเภานั้นแล อันว่ามิตรแลอำมาตย์แลทาษกรรมกร อัันเปนอุปการปฏิบัติรักษาโยคาวจรนั้น ก็มีอุปไมยดุจไม้อันเปนกงวาน แลเปนอุปการรักษาสำเภานั้น ![]() เหตุดังนั้น อันว่าโยคาวจรผู้มีปัญญา ปรารถนาเพื่อจะข้ามสงสารสาครนั้น ก็พึงพิจารณาดูคนทั้งหลายด้วยปัญญา เล็งเห็นคนหมู่ใดอันมิซื่อมิตรง แลคดด้วยกาย คดด้วยวาจา คดด้วยจิตร โยคาวจรอย่าเอาคนหมู่นั้นมาเปนมิตร เปนอำมาตย์ เปนทาษ กรรมกร ให้ปฏิบัติรักษาอาตมา อันนี้ชื่อว่าไม้โกงอย่าเอาทำกงวานนั้นแล ![]() อันว่าโยคาวจรผู้มีปัญญานั้น พึงเลือกเอาแต่คนอันซื่อ อันสัตย์ อันตรง มิได้คดด้วยกาย มิได้คดด้วยวาจา มิได้คดด้วยจิตร นั้นมาเปนมิตร เปนอำมาตย์ แลเปนทาษ กรรมกร ให้เปนอุปการปฏิบัติรักษา อาตมาแห่งโยคาวจรนั้น อันนี้ชื่อว่าให้เอาแต่ไม้อันซื่อ มาทำกงวานนั้นแล เหตุอันใดจึงว่าอย่าให้โยคาวจรเจ้า เหตุว่าคนอันคดอันมิซื่อนั้น เปนคนอสัปบุรุเปนคนพาลคนบาปแล ![]() สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้ฯ อธิบายว่าอันว่าบุคคลผู้ใด เว้นเสียซึ่งความสัตย์แลกล่าวคำมุสาวาท แลเห็นแต่ประโยชน์ในอิธโลกนี้ แลมิได้เล็งเห็นประโยชน์ในปรโลก อันว่าบุคคลผู้นั้นจะว่ามิกระทำบาปนั้นหามิได้ เมาะว่าบุคคลผู้นั้นกระทำบาป เปนคนบาปเที่ยงแท้แล อันว่าอยู่ด้วยคนบาปคนพาล อันมิซื่อสัตย์นั้นก็เปนทุกข์ยิ่งนักหนา สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าตรัสเทศนาว่าฯ อันว่าบุคคลหมู่ใดแลมีปรกติ ท่องเที่ยวไปด้วยคนพาลนั้น อันว่าบุคคลหมู่นั้น ก็จะบังเกิดทุกข์โศกาดูรสิ้นกาลช้านาน เหตุว่าฟังถ้อยคำคนพาลและกระทำบาปนั้น อันว่าอยู่กับด้วยคนพาลนั้น อยู่เปนทุกข์นักหนาดุจอยู่ด้วยข้าศึกนั้นแล ![]() แลอธิบายว่าบุคคลอันอยู่กับด้วยข้าศึก อันมีมือถือดาบจะฆ่าอาตมานั้นก็ดี อยู่ด้วยงูอสรพิษอันจะตอดอาตมานั้นก็ดี แลบุคคลผู้นั้นก็อยู่เปนทุกข์ในกาลทั้งปวง แลมีอุปมาดุจใด อันว่าบุคคลผู้อยู่ด้วยคนพาลนั้น ก็อยู่เปนทุกข์ในกาลปวง ดุจอยู่ด้วยข้าศึกแลอยู่ด้วยงูอสรพิษนั้นแล เหตุดังนี้จึงว่าอย่าให้โยคาวจร เอาคนพาลมาเปนอุปการ แก่อาตมาภาพนั้นแล ประการหนึ่ง ซึ่งว่าโยคาวจรเอาคนซื่อสัตย์ มาเปนอุปการนั้น ด้วยว่าคนซื่อสัตย์นั้นเปนคนสัปบุรุษ แลอยู่ด้วยคนสัปบุรุษนั้นเปนศุขเที่ยงแท้แล ![]() สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้ อันว่าอยู่ด้วยบุคคลผู้สัปบุรุษนั้น ก็เปนศุขในกาลทุกเมื่อ แลอย่าว่าอยู่ด้วยเลย แม้นแต่เล็งเห็นบุคคลผู้เปนสัปบุรุษนั้น ก็เปนศุขเที่ยงแท้นักหนาแล แม้นว่าอยูด้วยนักปราชญ์ ผู้มีปัญญานั้นก็เปนศุขยิ่งนักหนา ดุจอยู่ด้วยญาติกาแห่งอาตมานั้นแล เหตุดังนี้จึงให้โยคาวจร เอาคนซื่อเปนสัปบุรุษนั้น เปนอุปการแก่อาตมาภาพนั้นแล ประการหนึ่ง ![]() สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าตรัสเทศนา ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าท่านทั้งหลายจะบำเพ็ญสมณธรรม ปรารถนาจะพ้นจากวัฏสงสาร ถ้าท่านทั้งหลายได้กัลยาณมิตรเปนกุศล อันกอประด้วยปัญญา แลมีปรกติอยู่เปนศุขอันดี อันจะบำเพ็ญสมณธรรม ด้วยอาตมาและกัลยาณมิตรนั้น ผจญเสียซึ่งราคะ โทสะ โมหะ มานะทิฏฐิอันเปนไภยนั้นเสียแล้ว แลกัลยาณมิตรดังนี้ ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญสมณธรรม กับด้วยกัลยาณมิตร ผู้นั้นเกิดเหตุดังนั้น ท่านทั้งหลายจงสร้องเสพ ซึ่งกัลยาณมิตรอันมีเพียร แลมีปัญญา แลเปนพหูสูตร แลกอประด้วยศีลวัตรปฏิบัตินั้นเถิด ![]() อันว่าพระจันทร์อันเสพซึ่งอากาศ อันเปนทางแห่งดาวทั้งหลาย แลเปนอันรุ่งเรืองงามหนักหนา แลมีอุปมาดุจใด อันว่าท่านทั้งหลายอันสร้องเสพ ซึ่งกัลยาณมิตรอันกอประด้วยคุณเห็นปานดังนั้น ท่านทั้งหลายก็จะรุ่งเรืองงามดุจพระจันทร์นั้นแล ![]() อธิบายปฤษณานี้ว่า โยคาวจร อันปรารถนาจะข้ามสงสาร ให้ถึงนฤพานนั้น อย่าได้สร้องเสพด้วยคน อันคดอันเปนอสัปบุรุษนั้น แลให้สร้องเสพด้วยคนอันซื่อเปนสัปบุรุษนี้ จึงจะข้ามสงสารถึงนฤพานตามปรารถนา ดุจสำเภาเภตรา อันมีกงวานอันสามารถนั้นแล อันว่าอาตมาโยคาวจรนั้นดุจสำเภา อันว่ากัลยาณมิตรอำมาตย์ทาษกรรมกรนั้น ดุจกงวานสำเภา อันว่าจิตรแห่งโยคาวจรนั้น ดุจพานิชสำเภานั้นแล ![]() ขอถวายพระพรอาตมาภาพ วิสัชนาจตุตถปัณหา ด้วยพระธรรมเทศนานี้ ขอจงเปนต้นหนแลนายเข็มสำหรับสำเภาเภตรา คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาจตุตถปัณหาปฤษณาคำรบ ๔ สำเร็จแล้วแต่เท่านี้แล |
8.16.2555
พระราชปุชฉาของสมเด็จพระเพทราชา ข้อที่ ๔
ป้ายกำกับ:
Wonderful life
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น