2.26.2555

นิทานห่านน้อย (ขำนะจ๊ะ อิอิ)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีห่านอยู่ฝูงหนึ่ง ฝูงเล็กๆประมาณ 4-5 ตัว
พวกมันอาศััยอยู่ที่หนองน้ำแห่งหนึ่งอย่างมีความสุข มานานแสนนาน
อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ กุ้ง หอย ปูปลา จากหนองน้ำ แ่ห่งนั้นก็ไม่เคยขาดแคลน
อากาศก็เย็นสะบาย มีทุ่งหญ้า มีเนินเขาให้พวกมันได้เดินเล่น 
ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจี ดอกไม้บานสะพรั่ง นกร้องเพลง
พวกห่านถือครองเบ็ดเสร็จ เป็นอาณาจักรน้อยๆ ของพวกตน
จนกระทั่งตอนสายๆของวันสะบายๆวันหนึ่ง ก็มีเหตุให้พวกห่าน
ที่กำลังความสุข มีจิตใจโอบอ้อมอารี เปลี่ยนไป เมื่อรู้สึกว่า พวกมันกำลังถูกบุกรุก
กำลังจะถูกขโมยความสุข มันจะต้องปกป้องดินแดนอันหวงแหน และต้องหาทางจัดการกับผู้บุกรุก
จากฝูงห่านที่หน้าตายิ้มแย้ม และดูมีความสุขสุดๆ
กลายเป็น ห่านหน้าโหด ห่านปากจัด ห่านขี้บ่น ห่านนักรบ และห่านนักเลง
เมื่อสายตาของพวกมันไปพบกับ คนแปลกหน้าคนหนึ่ง แต่งตัวประหลาดๆ ไม่เหมือนคนแถวนี้เลย นี่นา แถมถือบางสิ่งบางอย่าง ไม่น่าไว้ใจๆ  ดูพิลึกๆ บุกรุก ๆๆๆๆ
พวกมันเริ่มส่งเสียงเตือนกัน เริ่มจัดกระบวนพล
และเริ่มเดินเข้าใส่ผู้หญิงคนนั้น เหมือนจะสั่งสอนให้รู้จักเรื่อง"สิทธิห่านชน"ซะบ้าง
ไปดูหน้าตา น่าเกลียดน่าชังของห่านน้อย(หุ หุ)กันดีกว่า

เสียวน่องสุดๆ แต่ไม่เป็นไร กางเกงยีนเนื้อคงหนา พอ สู้ๆ
ชั้นท้าทายเธอ เธอก็ท้าทายชั้น


ชั้นก็ไปซ้าย
เธอขวา ชั้นก็ขวา อยากได้รูป เพื่อนห่านนิ
หลอกล่อลงน้ำ  นึกเหรอว่าจะตามไม่ได้


 

เธอก็สวยยย แบบโหดๆอ่า
ตามมาดิ

หน้าตาหล่อน ร้ายยยนะยะ
เชิด... โชว์ความงาม
โกรธกันมาแต่ปางก่อนนน   
ขอโทษคร่าาา
ความสงบสุข ก็กลับมาอีกครั้ง เฮ้อออ





พระราชปุชฉาของสมเด็จพระเพทราชา ข้อที่ ๓

๓) อาตมภาพขอถวายวิสัชนา
ตติยปัณหาปฤษณาคำรบสาม
ว่า หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร นั้น
ชื่อหลวงเจ้าวัดนั้นคือ จิตรอันชื่อวิญญาณขันธ์
อันเปนประธานแก่เจตสิกทั้งปวง
อันชื่อ เวทนาขันธ์
สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์นั้นแล
เหตูว่าพระบาฬี ดังนี้ฯ
มหากัส์สปเถรปมุขปัญจสตา ภิก์ขูฯ
อันว่าภิกษุทั้งหลาย ๕๐๐
มีพระมหากัสสปเถรเปนประธาน
อันนี้เปนอุประมา มโนปุพ์พํ คมา ธัม์มา
อันว่าอรูปธรรมทั้งหลาย
คือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์
สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
เปนประธานอันเปนอุประไม

อธิบายว่าดังนี้ อันว่าหลวงเจ้าวัดนั้น
เปนประธานแก่ภิกษุทั้งหลาย
อันเปนลูกวัดแลมีดุจใด
อันว่าจืตรก็เปนประธาน
แก่จิตรทั้งหลายก็มีดุจนั้น
เหตุดังนั้นจึงว่า หลวงเจ้าวัดนั้น
คือจิตรอันชื่อว่า วิญญาณขันธ์
แลเปนประธานแก่เจตสิกทั้งหลาย
อันชื่อว่าเวทนาขันธ์
สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์นั้นแล
ซึ่งว่าอย่าให้อาหารนั้น
คืออย่าให้จิตรยินดีต่ิอาหาร ๔ ประการ

คือ
กวฬึการาหารนั้น ๑
ผัสสาหาร ๑
มโนสัญญเจตนาหาร ๑
วิญญาณาหาร ๑

อันว่ากวฬึการาหารนั้น
นำมาซึ่งรูปมีโอชาเปนคำรบ ๘
อันว่าผัสสาหารนั้น
นำมาซึ่งเวทนาทั้งสาม
อันว่ามโนสัญญเจตนาหารนั้น

นำมาซึ่งปฏิสนธิในภพทั้งสาม
อันว่าวิญญาณาหารนั้น
นำมาซึ่งนามแลรูป

เหตุดังนั้น ธรรมทั้ง ๔ ประการ
นี้จึงได้ชื่อว่าอาหาร
ซึ่งว่าอย่าให้จิตรยินดี
ในอาหารนั้นเปนเหตุดังฤๅ
เหตุว่าอาหารทั้งสี่ประการนั้น
กอประด้วยไภย ๔ ประการ คือ
นิกันติกไภย ๑
อุปคมนไภย ๑
อุปปัติไภย ๑
ปฏิสนธิไภย ๑

อันว่าปวฬึการาหารนั้น
กอประด้วยนิกันติกไภยคือ รศตัณหา
เหตุว่าสัตว์ทั้งหลายมีอาทิ คือ เนื้อแลปลา
อันหลงด้วยรศตัณหา
ก็ถึงไภยฉิบหายเปนอันมาก ปการหนึ่ง
แม้นมนุษย์แลบรรพชิตแล้วก็ดี
ครั้นยินดีในรศตัณหาก็ย่อมถึงซึ่งไภย
อันจะเปนอันตราย
แก่พรหมจรรย์ก็มีเปนอันมาก
แม้นบรรพชิต
อันเปนปัจฉิมภวิกชาตินั้นก็ดี
ครั้นยินดีต่อรศตัณหา
ก็ย่อมบังเกิดไภย
ดุจพระสุนทรเถร
อันนางแพศยาตกแต่งโภชนาหาร
อันประดิษแลนิมนต์
ให้เข้าไปฉันแต่ในศาลา
อันเปนที่ชุมนุมภายนอกนั้นแล้ว
ก็นิมนต์ให้ไปฉันถึงหอนั่ง
แล้วก็นิมนต์ให้เข้าไปฉันถึงในเรือน
แล้วก็นิมนต์ให้ขึ้นไปฉันบนปราสาท ๗ ชั้น
พระมหาเถรนั้นได้บริโภค
อาหารอันประดิษแล้วนั้น
ก็ยินดีด้วยรศตัณหา
ก็ไปตามใจแห่งแพศยาผู้นั้น
แพศยานั้นจะให้ไปนั่งฉันที่ใด
ก็ไปนั่งฉันในที่นั้น
เหตุยินดีด้วยรศตัณหา

ครั้นขึ้นไปนั่งฉันในปราสาท ๗ ชั้นนั้น
แพศยานั้นหับประตูไว้แล้ว
ก็เล้าโลมด้วยมารยาสตรีอันมีประการต่างๆ
เพื่อจะให้เปนคฤหัสถ์แลจะให้บริโภคกามคุณ
พระมหาเถรนั้น มีสมภารบริบูรณ์แล้ว
ก็มิได้ยินดีในกามคุณนั้น
ก็บังเกิดธรรมสังเวช
ก็ลุถึงอรหรรต์แล้วก็เหาะหนีไปในอากาศ
ก็พ้นจากแพศยานั้น

ถ้าแม้ยังมิถึงปัจฉิมภวิกชาติ
แลสมภารยังไม่บริบูรณ์
ก็จะถึงซึ่งไภยอันตรายพรหมจรรย์
ด้วยแพศยาผู้นั้นแล
เหตุดังนั้นบุคคลผู้มีปัญญา
ปรารถนาพ้นจากสงสาร
แลจะเอานฤพานให้ได้นั้น
แม้นบริโภคโภชนาหารอันประณีตนั้นก็ดี
อย่าพึงยินดีในรศตัณหาบังเกิด
ก็พึงบริโภคด้วยปัญญาอันพิจารณา
ซึ่งอุประมาดุจบุคคลสองคน
อันเปนสามีภิริยาเดินไปในทางอันกันดาร
ขาดอาหารจะสิ้นชีวิตรนั้น
ก็กินเนื้อกุมารผู้บุตรนั้น
และมิได้ยินดีต่อรศตัณหาในเนื้อบุตรนั้น
แลกินเนื้อบุตรนั้นแต่เพื่อจะรักษาชีวิตร
แลมีอุประมาดุจใด

อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญา
จะปรารถนาให้พ้นจากสงสาร
แลจะได้ถึงนฤพานโดยพลัน
ก็พึงบิโภคอาหารแต่เพื่อจะรักษาชีวิตร
แลจะเจริญภาวนาให้ได้
วิปัสสนาปัญญาสิบประการ
แลมรรคญาณผลญาณ
อันจักกระทำนฤพานให้แจ้งนั้น
และอย่าให้บังเกิดความยินดีด้วยรศตัณหา
ดุจคนทั้งสองอันกินเนื้อบุตรนั้นเถิดฯ

อันว่าผัสสาหารนั้น
กอประด้วยอุปคมนไภย
คือสภาวะแห่งอารมณ์ทั้ง ๖
คือรูปารมณ์อันมาถูกต้องจักษุทวารนั้นก็ดี
คือสัททารมณ์อันมาถูกต้องโสตทวารนั้นก็ดี
คือคันธารมณ์อันมาถูกต้องฆานทวารนั้นก็ดี
คือรสารมณือันมาถูกต้องชิวหาทวารนั้นก็ดี
คือโผฏฐัพพารมณ์อันมาถูกต้องกายทวารนั้นก็ดี
คือธรรมารมณ์อันมาถูกต้องมโนทวารนั้นก็ดี
อารมณ์ทั้ง ๖ นี้
ถ้าเปนอนิฏฐารมณ์อันชั่ว อันถ่อย
อันมิถูกถึงพึงใจ
แลมาถูกต้องทวารทั้ง ๖ นั้นก็ดี
โทมนัสเวทนาก็บังเกิด
แลโทมนัสเวทนานั้นให้คับแค้น
เสียบแทงจิตรนั้นให้ลำบาก
ดุจปืนอันกำทราบอันชุบด้วยยาพิษ
แลมาถูกต้องเสียบแทงในหทัยวัตถุฉนั้น
ก็เปนอันลำบากยิ่งหนักหนา
ก็ไหลลงไปในผัสสาหารอันถูกต้องทุกข์นั้น
ก็ถึงไภยอันมิได้เปนประโยชน์
ในอิธโลกแลปรโลกนั้น
ถ้าแลอารมณ์ทั้ง ๖ นั้น
เปนอิฏฐารมณ์อันงามอันดี
เปนที่ถูกเนื้อพึงใจ
แลมาถูกทวารทั้ง ๖ นั้น
โสมนัสเวทนาก็บังเกิด
แลโสมนัสเวทนานั้น
ก็ยังจิตรให้ลำบากด้วยสภาวกำหนัด
ยินดีในผัสสาหารอันถูกต้องอารมณ์นั้น
ก็หลงไปในผัสสาหารอันถูกต้องศุขนั้น
ก็ถึงซึ่งไภยอันมิได้เปนประโยชน์
ในอิธโลกแลปรโลกนั้นแล
ถ้าแลอารมณ์ทั้ง ๖ นั้น
เปนมัชฌตารมณ์บมิชั่วบมิดี
และมาถูกต้องทวารทั้ง ๖ นั้น
อุเบกขาเวทนาก็บังเกิด
แลอุเบกขาเวทนานั้นมิได้ตั้งอยู่นาน
ดุจทุกขเวทนาแลศุขเวทนานั้น
อุเบกขาเวทนานั้น
ก็บังเกิดบัดเดี๋ยวแล้วก็ดับไป

อันว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่ใด
อันยินดีในผัสสาหาร
อันว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่นั้น
มิได้พ้นจากสังสารทุกข์
เหตุว่าผัสโสนั้นเปนปัจจัยเวทนา
เวทนาเปนปัจจัยแก่ตัณหา
ตัณหาเปนปัจจัยแก่อุปาทาน
อุปาทานเปนปัจจัยแก่ภวะ
ภวะเปนปัจจัยแก่ชาติ
ชาติเปนปัจจัยแก่
ชรามรณดสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาส
ก็บังเกิดเปนกองทุกข์อยู่ในสงสาร
เหตุยินดีต่อผัสสาหารนั้นแล

อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญา
อันจะปรารถนาพ้นจากสงสาร
แลจะใคร่ได้นฤพานจงฉับพลัน
ก็อย่าพึงยินดีต่อ
ผัสสาหารในทวารทั้ง ๖ นั้น

ดุจแม่ไก่หาหนังมิได้นั้น
แลแม่ไก่จะไปในสถานที่ใดๆ
สัตว์ทั้งหลายจะจิกทึ้งกัด
เอาเนื้อกินเปนอาหารในสถานที่นั้นๆ

แม่ไก่อันหาหนังมิได้นั้น
ระวังระไวรักษาอาตมา
เหตุว่ากลัวแต่สัตว์ทั้งหลาย
จะมาจิกมาทึ้งอาตมานั้น
แลไม่ยินดีต่อสัตว์ทั้งหลาย
อันจะมาจิกทึ้งกัดนั้นแล มีดุจใด
อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญา
พึงระวังระไวรักษาทวารทั้ง ๖
อย่าพึงยินดีต่อผัสสาหารนั้น
แลพึงกลัวแต่ผัสสาหารนั้น
ดุจแม่ไก่อันหาหนังมิได้นั้น
แม้นอารมณ์มาถูกต้องทวารทั้ง ๖
แลเวทนาบังเกิดก็ดี
ก็พึงพิจารณาตามพุทธฏีกา
สมเด็จพระสรรเพ็ชพระพุทธเจ้า
ตรัสเทศนาไว้ดังนี้

อันว่านักปราชญ์ผู้ใด
แลเห็นซึ่งศุขเวทนานั้น
ว่าเปนวิปริณามธรรม
เหตุว่าศุขเวทนานั้น
ย่อมแปรเปนทุกข์เมื่อภายหลัง
แลเลงเห็นทุกขเวทนานั้นดุจปืน

อันกำทราบอาบด้วยยาพิษ
แลเลงเห็น อทุกขสมศุขเวทนา
อันรงับเปนศุขนั้นว่าบมิเที่ยง
นักปราชญ์ผู้นั้นชื่อว่า
เลงเห็นเปนอันชอบนักหนา
นักปราชญ์ได้ชื่อว่าภิกษุ
ก็ถึงซึ่งที่ใกล้นฤพานแล้วแล

 อันว่ามโนสัญเจตนาหารนั้น
กอประด้วยอุปปัติไภย
อันจะชักไปให้บังเกิดในภพทั้ง ๓ คือ
กามภพ รูปภพ อรูปภพ
อันว่ามโนสัญเจตนาหาร
คืออปุญญาภิสังขารนั้น
ก็ชักไปให้บังเกิดในอุบายทั้ง ๔
อันว่ามโนสัญเจตนาหารอันเปน
กามาพจรบุญญาภิสังขาร
แลชักไปให้บังเกิดในกามสุติภพ
อันว่ามโนสัญเจตนาหาร
คืออรูปาพจรอเนญชาภิสังขาร
ก็ชักไปให้บังเกิดในอรูปภพนั้น
เหตุดังนั้นอันว่าบุคคลผู้ยินดี
ในมโนสัญเจตนาหาร
ก็จะเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏสงสาร
ก็จะได้ถวายชาติทุกข์ ชราทุกข์
พญาธิทุกข์ มรณทุกข์
โสกทุกข์ปริเทวทุกข์
โทมนัสทุกข์ อุปายาสทุกข์
อันเปนไภยอันยิ่งหนักหนา
เหตุว่ายินดีด้วย
มโนสัญเจตนาหารนั้นแล

อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญา
ปรารถนาจะพ้นจากสงสาร
แลจะให้ถึงนฤพานจงฉับพลัน
ก็พึงพิจารณาด้วยปัญญา
เลงเห็นภพทั้ง ๓
ดุจขุมเพลิงทั้ง ๓ ขุม เหตุว่า
ภพทั้งสามนั้น
เปนอันไหม้เดือดร้อนอยู่เปนนิจ
กาลด้วยเพลิง ๑๑ ประการคือ
ราคัคคี โทสัคคี โมหัคคี
ชาตัคคี ทุกขัคคี ชรัคคี
มรณัคคี โสกัคคี ปริเทวัคคี
โทมนัสสัคคี อุปายาสัคคี
เพลิง ๑๑ ประการนี้
เผาไหม้อยู่เปนนิจกาล
อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญา
พิจารณาเห็นแจ้งดังนี้แล้ว
และหน่ายยินร้าย
มิได้ยินดีต่อมโนสัญเจตนาหาร
นักปราชญ์ผู้นั้นก็จะทำ
ซึ่งที่สุดแห่งทุกข์
จะถึงนฤพานอันอุดม
ในอาตมาภาพอันเปนปัจจุบันนี้แลฯ
อันว่าวิญญาณาหารนั้น
กอประด้วยปติสนธิไภย
เหตุว่าปติสนธิวิญญาณนั้น
ยังสัตว์ให้ไปในภพสงสาร
อันกอประด้วยทุกข์เวทนา
อันจะอดและอยาก
ดุจบุคคลอันเปนศัตรูแลข้าศึก
อันยังบุคคลให้หลงแล้ว
และประหารด้วยศาตราวุธนั้นแล
อันว่าบุคคลผู้ยินดีต่อวิญญาณาหาร
ก็จะต้องถูกต้องด้วยปติสนธิไภย
อันเปนทุกข์ลำบากอยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาล
ช้านานยิ่งนักหนาแล

อันว่านักปราชญ์ผู้มีปัญญา
แลพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า
วิญญาณาหารนำมาซึ่งปติสนธิไภย
อันเปนที่สะดุ้งตกใจกลัวยิ่งนักหนา
และกอประด้วยทุกข์เวทนามีประการต่างๆ
และนักปราชญ์ผู้มีปัญญานั้น
ก็หน่ายก็ยินร้ายมิได้ยินดี
ต่อวิญญาณาหารนั้น
นักปราชญ์ก็จะกระทำให้ถึงซึ่งที่สุดทุกข์
ก็จะถึงนฤพานอันอุดม

ในชาติเปนปัจจุบันนี้แล
อาตมาภาพขอถวายพระพร
ให้แจ้งในพระญาณ
ครั้นแลจิตรยินดีในอาหารทั้ง ๔ ประการ
ก็จะเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร
อันกอประด้วยทุกข์ดุจกล่าวมานี้
ครั้นแลมิให้จิตรยินดีต่ออาหารทั้ง ๔ ประการนี้
ก็จะพ้นจากสงสาร
ก็จะถึงนฤพานอันเปนศุขเที่ยงแท้
เหตุดังนั้นจึงว่า
อย่าให้จิตรยินดีต่ออาหารทั้ง ๔ ประการ
ดุจอย่าให้อาหารแก่หลวงเจ้าวัด
อันกล่าวในปฤษณานี้แล
อาตมาภาพขอถวายวิสัชนา
ด้วยพระธรรมเทศนานี้
เพื่อจะเปนต้นหนแลนายเข็มสำเภาเภตรา
คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ
วิสัชนาตติยปัณหาสำเร็จเท่านี้ก่อนแล
           

2.17.2555

พระราชปุชฉาของสมเด็จพระเพทราชา ข้อที่ ๒

๒)อาตมาภาพขอถวายวิสัชนา
"ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด"

แลลูกอ่อนนั้นคือญาติวงศา
มีบิดามารดาแลบุตรธิดาเปนอาทินั้น

เหตุว่าบุคคลผู้มีปัญญา
แลเปนอริยสัปบุรุษนั้น
ก็ย่อมเปนอุปการรักษาซึ่งญาติวงษา
แห่งอาตมาดุจบิดามารดา
อันเปนอุปการรักษากุมาร
กุมาริกาอันเปนบุตรธิดา
แห่งอาตมาภาพนั้น
ซึ่งว่าอย่าอุ้มรัดนั้น
คือว่าให้อุ้มแต่ว่า
อย่าให้รัดเข้าให้ติดอาตมา
เหตุว่ากิริยาอันอุ้มนี้มีสองประการคือ
อุ้มแต่พอหมั้นและมิให้รัดเข้า
ให้ติดอาตมาประการหนึ่ง
อุ้มและรัดเข้าให้ติดอาตมาประการหนึ่ง
อุ้มเปนสองประการดังนี้
ซึ่งว่าอุ้มนั้นเปนอุปการรักษา
ซึ่งว่ารัดเข้าให้ติดอาตมานั้น
คือตัณหาอุปาทานเสน่หา
อันปรารถนาถือหมั้นด้วยความรักนั้นแล
ซึ่งว่าอุ้มแลมิให้รัดเข้าให้ติดอาตมานั้น
คือเปนแต่อุปการรักษา
แลหาตัณหาอุปาทานเสน่หามิได้นั้นแล
อันว่าบุคคลผู้เปนปุถุชนหาปัญญามิได้นั้น
ก็เปนอุปการรักษาญาติวงษาด้วยตัณหา
อุปาทานเสน่หาอันปรารถนาว่า
ญาติวงษาทั้งหลายนี้
เปนที่พึ่งที่พำนักแก่อาตมาเที่ยงแท้
ก็ถือหมั้นด้วยความรักว่า
ญาติวงษาทั้งหลายนี้
เปนของอาตมาเที่ยงแท้
มีอุปมาดังบุคคลอันอุ้มลูกอ่อน
แลรัดเข้าให้ติดอาตมานั้นแล
อันว่าบุคคลผู้มีปัญญา
แลพิจารณาเห็นสังขารธรรมทั้งปวง
คืออาตมาเองนั้นก็ดี
ญาติวงษาทั้งหลายนั้นก็ดี
ก็ย่อมเปน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แลบุคคลผู้มีปัญญานั้น
ก็เปนอุปการรักษาญาติวงษาทั้งหลาย
แต่ตามประเวณีอันมี
เมตตาจิตรเปนบุพพภาค
แลตัณหาอุปาทานเสน่หามิได้นั้น
ก็มีอุปมาดังบุคคลอันอุ้มลูกอ่อน
แลมิให้รัดเข้าให้ติดอาตมานั้นแล

อันว่าบุคคลผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นดังนี้
เหตุบุคคลผู้นั้นได้ฟังธรรมเทศนาดังนี้ฯ

อันว่าโศกาอาดูรก็ดี ก็บังเกิดแต่ความรัก
อันว่าไภยก็ดี ก็บังเกิดแต่ความรัก
อันว่าโศกก็ดีอันว่าไภยก็ดี
ก็มิได้บังเกิดแต่สถานที่ใดที่หนึ่ง
แต่บุคคลผู้หาความรัก
มิได้แลพ้นจากความรักนั้นแล้วแล
อันว่าบุคคลผู้มีปัญญา
แลเปนอุปการอนุเคราะห์ญาติวงษา
แลตัณหาอุปาทานเสน่หามิได้นั้น
แม้นแลญาติวงษาบังเกิดไภย
อันตรายพินาศฉิบหายชีวิตรก็ดี
บุคคลผู้มีปัญญานั้น
ก็มิได้บังเกิดทุกข์โทมนัศ
โศกาดูรอันยิ่งนั้นแล
อันว่าบุคคลผู้มิได้สดับฟังธรรมเทศนา
แลหาปัญญามิได้นั้น
เปนอุปการอนุเคราะห์ญาติวงษา
ด้วยตัณหาอุปาทานเสน่หานั้น
ครั้นแลญาติวงษาบังเกิดไภยอันตราย
พินาศฉิบหายชีวิตรก็ดี
บุคคลผู้หาปัญญามิได้นั้น
ก็บังเกิดทุกข์โทมนัศโศกาดูรยิ่งนักหนา

  ดุจธิดาเศรษฐีคนหนึ่ง อันมีครรภ์แก่แล้ว
แลจะเข้าไปหาบิดามารดาในเมืองสาวัตถี
ก็ไปด้วยกับสามีแลทารกอันเปนบุตรนั้น
ครั้นไปถึงท่ามกลางมรรคาก็จะคลอดบุตรนั้น
แลบุรุษผู้เปนสามีนั้นถือพร้าเข้าไปในสุมทุม
จะตัดเอาใบไม้มาทำร่มแก่บุตรภรรยา
แลงูอสรพิษตัวหนึ่งออกมาแต่จอมปลวก
ก็ตอดเอาบุรุษผู้นั้น ๆก็ล้มลง
ถึงแก่มรณไภยในที่นั้นแล
เศรษฐีธิดาก็คลอดทารกออก ณ ที่นั้น
เพลาเปนอันค่ำ
ลมพายุแลฝนก็ตกลงในราตรีนั้น
แลเศรษฐีธิดานั้น
จึงเอาทารกทั้งสองนอนไว้ใต้อก
ก็ครอบทารกทั้งสองนั้นไว้ยังรุ่ง


ครั้นรุ่งเช้าเศรษฐีธิดานั้น
เลงเห็นสามีล้มตายอยู่
ก็บังเกิดโศกาดูรร้องไห้ร่ำไปมา
  จึงอุ้มทารกอันประสูติใหม่
แลมีพรรณดังชิ้นเนื้อนั้น
แลจูงมือทารกผู้รู้เดินนั้นไ
ปถึงแม่น้ำแห่งหนึ่ง
จึงให้ทารกผู้ใหญ่นั้นนั่งอยู่ ณ ริมฝั่ง
แล้วก็อุ้มทารกอันประสูติใหม่
นั้นข้ามแม่น้ำไป
ถึงฝั่งฟากข้างโพ้น แลเอาใบไม้ปูลง
แล้งจึงวางทารกนั้นให้นอนเหนือใบไม้
แล้วก็กลับไปรับเอาบุตรผู้ใหญ่นั้นมา
ครั้นไปถึงกลางแม่น้ำ
จึงเหยี่ยวตัวหนึ่งบินมาในอากาศ
เลงเห็นทารกอันนอนเหนือใบไม้นั้น
ก็สำคัญว่าชิ้นเนื้อ
ก็ฉาบลงคาบทารกนั้น
แลเศรษฐีธิดาเลงเห็น
ก็ชูมือทั้งสองขึ้นแกว่ง
แล้วก็ร้องตวาดเหยี่ยวนั้น
ทารกผู้ใหญ่อันอยู่ริมฝั่ง
ข้างหนึ่งนั้นก็สำคัญว่ามารดาเรียก
ก็แล่นลงไปในแม่น้ำนั้น
น้ำก็พัดเอาทารกนั้นไป
 แลเศรษฐีธิดาผู้นั้นก็บังเกิด
ความทุกข์โศกาดูรยิ่งนักหนา
ก็ร้องไห้ร่ำไรไปมาว่า
ลูกน้อยนี้เหยี่ยวก็พาไป
แลลูกใหญ่ก็จมลงในนที
สามีงูก็ขบตายแล้ว
เศรษฐีธิดาผู้นั้นเดินมา
เลงเห็นบุรุษผู้หนึ่ง
จึงถามบุรุษผู้นั้นว่า
ท่านรู้จักตระกูลเศรษฐีอันมีชื่อโพ้น
อันอยู่ในเมืองสาวัตถีนั้นแลฤา
บุรุษผู้นั้นจึงบอกว่าฝนตกคืนนี้
ลมพายุพัดเรือนมหาเศรษฐีนั้นหักทำลายลง
ทับมหาเศรษฐีแลภรรยาแลลูกชาย
ตายทั้งสามคนในกลางคืนนี้แล้ว
แลคนทั้งหลายเขาเอาไปเผา
ในเชิงตะกอนเดียว
ด้วยกันทั้งสามคนนั้นแล
เศรษฐีธิดาผู้นั้นได้ฟัง
ถ้อยคำบุรุษนั้นบอก
ก็บังเกิดทุกขเวทนานักหนา
หาสติสมปดีมิได้
แลผ้านุ่งผ้าห่ม
ตกออกจากกายอาตมาก็ไม่รู้ตัว
ก็ถึงซึ่งสภาวเปนบ้าก็ร่ำร้องไห้
แล่นไปถึงพระเชตุพนมหาวิหาร
คนทั้งหลายก็ห้ามมิให้เข้าไป
จึงสมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าตรัสรู้ว่า
เศรษฐีธิดานั้นมีสมภาร
ได้บำเพ็ญมาบริบูรณ์แล้ว
แลจะถึงพระอรหรรต์ในชาตินั้น
จึงมีพุทธฏีกาตรัสว่า
ท่านทั้งหลายอย่าห้ามเลยให้เข้ามาเถิด
ครั้นเศรษฐีธิดาเข้าไปใกล้
จึงมีพุทธฏีกาตรัสว่า
ดูกรภคินี ท่านจงได้สมปดีเถิด
เศรษฐีธิดานั้น
ครั้นได้ยินพระสุรเสียง
นางก็ได้สติสมปดี
ด้วยอานุภาพ
สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าในขณะนั้น
จึงรู้ว่าผ้าห่มตกจากกายเสียสิ้นแล้วก้นั่งลง
จึ่งบุรุษผู้หนึ่งก็เปลื้องผ้าห่มของอาตมา
ออกซัดให้แก่เศรษฐีธิดา ๆก็นุ่งผ้านั้นเข้าแล้ว
ก็ไปกราบนมัสการสมเด็จพระพุทธเจ้า
แล้วก็กราบทูลว่า
ลูกข้าพระเจ้าคนหนึ่งเหยี่ยวก็คาบไป
ลูกข้าพระเจ้าคนหนึ่งน้ำก็พาเอาไป
สามีของข้าพระเจ้าอสรพิษก็ขบกัดตาย
บิดามารดาแลพี่ชาย
ข้าพระเจ้าเรือนก็หักทับตายสิ้นแล้ว
ข้าพระเจ้าหาที่พึ่งที่พำนักมิได้
ขอพระพุทธเจ้า
จงเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระเจ้าด้วยเถิด
 สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้า
จึงมีพุทธฏีกาตรัสว่า
ดูกร ปติจฉรา แปลว่าท่านผู้มีอาจาระ
คือหิริโอตัปปอันตัดเสีย
เหตุว่าผ้านุ่งผ้าห่มนั้น
ปราศจากอาตมาจึงเรียกปติจฉรา
อันว่าบุคคลผู้อื่นมิอาจเปนที่พึ่งแก่ท่านได้
แต่ตถาคตผู้เดียวนี้
จะบังเกิดเปนที่พึ่งแก่ท่านฯ
จงตั้งใจฟังธรรมเทศนา
ของพระตถาคตนี้เถิด
สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้า
จึงตรัสเทศนาดังนี้ฯ


ดูกรนางปติจฉรา
อันว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่นั้น
มีเปนอันน้อย
อันว่าน้ำตาแห่งบุคคลผู้หนึ่ง
อันเที่ยวตายเที่ยวเกิด
อยู่ในวัฏสงสารสิ้นกาลช้านาน
จะนับมิได้นั้น
อันทุกข์โศกาดูรมาถูกต้อง
แลร้องไห้ในการเมื่อญาติกา
ทั้งหลายมีอาทิคือ
บุตรธิดาพินาศฉิบหายล้มตายนั้น
แลน้ำตาแห่งบุคคลผู้หนึ่งนั้นก็เปนอันมาก
ยิ่งกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่นั้น
ดังฤๅท่านจะประมาทอยู่ด้วยรักญาติกาทั้งปวง
ท่านจะได้เสวยทุกขเวทนาเห็นปานดังนี้
สืบไปในวัฏสงสารนั้นเล่า
แลในเมื่อสมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้
าตรัสเทศนาดังนี้
อันว่าความโศกใน
ตัวแห่งนางปติจฉรานั้นก็น้อยลง
สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้า
รู้ว่าความโศกน้อยลงแล้ว
จึงตรัสเทศนาดังนี้ฯ

อันว่าบุตรธิดาทั้งหลายก็ดี
อันว่าบิดามารดาทั้งหลายก็ดี
อันว่าญาติวงษาทั้งหลายก็ดี
ก็มิได้เพื่อจะเปนที่พึ่ง
แก่บุคคลอันมัจจุราชหากครอบงำนั้น
เมาะว่าบุตรธิดาแลญาติกาจะเปนที่พึ่ง
คือจะให้เข้าน้ำโภชนาหาร
และจะช่วยเปนอุปการ
กระทำกิจการทั้งปวงได้
ก็แต่ยังมีชีวิตรอยู่นี้
แลเมื่อมัจจุราชมาถึงแล้วนั้น
ญาติวงษาทั้งหลายนั้น
มิอาจเพื่อจะเปนที่พึ่ง
และจะห้ามมัจจุราช
ด้วยอุบายอันใดอันหนึ่งหามิได้
อันว่าบุคคลผู้มีปัญญา
รู้ว่าญาติทั้งปวงมิได้
เปนที่พึ่งแก่อาตมาแล้วดังนี้
ก็พึงตั้งอยู่ในจตุปาริสุทธิศีลสังวร
แล้วพึงชำระพระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการ
อันเปนทางนฤพานนั้นจงฉับพลัน
ครั้งท่านชำระ
พระอัฏฐังคิกมรรคธรรมบริสุทธิ์แล้ว
ท่านก็ถึงนิพพานแล้ว
ท่านก็จะพ้นจากทุกข์โทมนัศ
โศกาทั้งปวงนี้แล

อธิบายว่าท่านปรารถนาให้พ้นจากทุกข์
ท่านจงชำระสัมมาทิฏฐิคือ
ปัญญาอันพิจารณาให้เห็นแจ้ง
ในอริยสัจ ๔ ดังนี้
อันว่าปัจขันธ์อันเปน
ที่บังเกิดทุกข์ทั้งปวงนี้ ชื่อทุกขอริยสัจ

อันว่าตัณหาอันปรารถนา
จะให้บังเกิดปัญจขันธ์สืบไป
นั้นชื่อสมุทยอริยสัจ
อันว่าตัณหาดับบมิได้บังเกิดสืบไป
ชื่อนิโรธอริยสัจ
อันว่าประฏิบัติเพื่อจะให้ตัณหา
อันชื่อสมุทยสัจดับ
แลมิให้บังเกิดสืบไปกว่านั้น
ปฏิบัตินั้นชื่อมรรคอริยสัจ
แลปัญญาอันรู้จักอริยสัจทั้ง ๔
ดังนี้ชื่อสัมมาทฏฐิ
อันว่าสักกายทิฏฐิอันถือว่าปัญจขันธ์นี้
เปนตัวเปนตนเปนอหังมมัง
ดังนี้ชื่อมิจฉาทิฏฐิ

แลท่านจงชำระสัมมาทิฏฐิ
อันเลงเห็นปัญจขันํ์ว่า
เปนกองทุกข์สิ่งเดียวเที่ยงแท้
หาตัวหาตนหาอหังมมัง
มิได้ในปัญจขันธ์นี้
ครั้นท่านชำระสัมมาทิฏฐินี้ให้บริสุทธิ์
มิให้มิจฉาทิฏฐิบังเกิดได้กว่านั้น
ก็ได้ชื่อว่าชำระองค์มรรคอันเปนประถม
เปนทางพระนฤพานประการหนึ่งแล
ท่านจงชำระสัมมาสังกัปปะให้บริสุทธิ์
อย่าให้มีมิจฉากัปปะบังเกิดได้
ท่านจงชำระสัมมาวาจาให้บริสุทธิ์
อย่าให้มีมิจฉาวาจาบังเกิดได้
ท่านจงชำระสัมมากัมมันโตให้บริสุทธิ์
อย่าให้มีมิจฉากัมมันโตบังเกิดได้
ท่านจงชำระสัมาอาชีโวให้บริสุทธิ์
อย่าให้มิจฉาอาชีโวบังเกิดได้
ท่านจงชำระสัมมาวายาโมให้บริสุทธิ์
อย่าให้มิจฉาวายาโมบังเกิดได้
ท่านจงชำระสัมมาสติให้บริสุทธิ์
อย่าให้มิจฉาสติบังเกิดได้
ท่านจงชำระสัมมาสมาธิให้บริสุทธิ์
อย่าให้มิจฉาสมาธิบังเกิดได้
ครั้นชำระธรรม ๘ ประการ
อันเปนองค์อริยมรรค
ให้บริสุทธิ์ดังนี้แล้วในกาลเมื่อใด
ท่านจะถึงนิพพานพ้นจาก
สังสารทุกข์ทั้งปวงในกาลเมื่อนั้น
เปนอันเที่ยงแล

นางปติจฉาตั้งสมาธิจิตร
ฟังพระธรรมเทศนานี้
ก็หยั่งปัญญาไปตามกระแสพระธรรมเทศนา
ก็พิจารณาเห็นแจ้งว่า
ทุกข์ทั้งปวงนี้บังเกิดแต่กิเลศธรรม
อันมีตัณหาเปนมูลนั้นเที่ยงแท้
นางปติจฉรานั้น
ก็เผากิเลสธรรมอันมูลแห่งทุกข์อันมาก
ดุจเมล็ดฝุ่นในแผ่นดินทั้งปวงนั้น
ให้ไหม้พินาศไปด้วยเพลิง
คือโสดามรรคญาณแล้ว
ก็ประดิษฐานอยู่ในโสดาปัตติผลนั้น
แล้วจึงขอบวชเปนภิกษุณีในพระพุทธศาสนา

 ก็ปรากฏชื่อว่าปติจฉราภิกษุณี
แลเมื่อนางตักน้ำล้างเท้า
ในกาลเมื่อวันหนึ่งนั้น
ก็เลงเห็นน้ำอันรดลงก่อนนั้น
ครั้นรดลงก็ทราบหายไป
แลน้ำอันรดลงเปนคำรบสองนั้น
ครั้นรดลงก็ไหลไปกว่าหน่อยหนึ่ง
แล้วก็ทราบหายไป
น้ำอันรดลงเปนคำรบสามนั้น
ก็ไหลไปมากกว่าก่อนนั้นหน่อยหนึ่ง
แล้วก็ทราบหายไป
ก็บังเกิดอุทยวยปัญญา
พิจารณาเห็นว่าสัตว์ทั้งหลาย
อันตายในปถมไวยนั้น
ดุจน้ำอันรดลงก่อนนั้น
สัตว์ทั้งหลายอันตายในมัชฌิมไวยนั้น
ดุจน้ำอันรดลงเปนคำรบ ๒ นั้น
สัตว์ทั้งหลายอันตายในปัจฉิมไวยนั้น
ดุจน้ำอันรดลงเปนคำรบ ๓ นั้นแลฯ

จึงสมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้า
เสด็จอยู่ในพระคันธกุฏิ
เปล่งพระรัศมีโอภาสไปให้เห็น
ดุจเสด็จอยู่ในที่เฉพาะหน้า
แห่งนางปติจฉราภิกษุณีนั้น
ก็ตรัสพระธรรมเทศนานี้ฯ

อันว่าผู้บุคคลผู้ใดมีอายุสม์
ได้ ๑๐๐ ปีแลมิได้เล็งเห็น
อันเกิดแลดับแห่งปัจขันธ์นี้
ชีวิตรได้ ๑๐๐ ปีนั้น มิได้ประเสริฐ
อันว่าบุคคลผู้ใดมีอายุสม์แต่วันเดียว
แลเล็งเห็นซึ่งอันเกิดแลอันดับแห่งปัจขันธ์นี้
อันว่าชีวิตรแห่งบุคคลวันเดียวนั้น
ประเสริฐกว่าชีวิตรร้อยปีนั้นแลฯ

นางปติจฉราภิกษุณีได้ฟังพระธรรมเทศนา
นางก็ลุถึงพระอรหรรต
กอประด้วยปติสัมภิทาญาณ
ในกาลเมื่อจบพระธรรมเทศนานี้แลฯ
ขอถวายพระพร
อาตมภาพพิจารณาทุติยปัญหา
ด้วยพระธรรมเทศนา
นี้ถวายเปนต้นหนแลนายเข็ม
สำหรับสำเภาเภตราคือ
พระบวรอาตมา พระองค์ผู้ประเสริฐ
วิสัชนาปฤษณาคำรบสองแล้วแต่เท่านี้แลฯ
          

พระราชปุชฉาของสมเด็จพระเพทราชา ตอนที่๑

"เป็นหนังสือเล่มเล็ก บาง จนแทบไม่สดุดตา
ณ ตลาดนัดเล็กๆแถวชานเมือง
ผู้เขียน ที่สอดส่ายสายตาหาหนังสือธรรมะ
บังเอิญได้พบหนังสือเล่มนี้
เมื่อนำกลับมาอ่าน ก็ยังความขนลุกขนพอง ด้วยความตื้นตัน
แต่ยังเป็นภาษาที่ ไม่ใช่จะอ่านเข้าใจได้ในคราเดียว
คนอ่าน จักต้องเป็นผู้ที่รื่นเริงในธรรมแท้ๆ
นั่นแหละ จึงจะมี่จิตกะใจในการอ่าน

ก็รู้สึกว่า เราน่าจะเก็บไว้ให้ดีดี
เผื่อหนังสือสูญหายไป เราก็จะได้หาที่อ่านง่ายๆ
และจะขอแบ่งเป็นตอนๆรวมแล้วเป็น ๘ ตอน"

ขอโมทนาสาธุ
ให้แก่ผู้ที่สนใจแลฝักใฝ่ในธรรม
ให้อานิสสงส์ในการอ่านธรรม
ท่วมท้นเติมเต็มทันตา
แลให้ถึงซึ่งพระนิพพาน ด้วยเทอญ
นิพพานปัจจโยโหตุฯ

เรื่องอัฏฐธรรมปัญหานี้
สมเด็จพระเพทราชา
ซึ่งได้เสวยราชสมบัติ
ณ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา
ต่อจากรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ได้ทรงดำรัสถามอัฏฐธรรมปัญหาแก่
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
วัดพุทไธสวรรค์
เมื่อ วันอังคาร ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘
 ปีมะเมียโทศกจุลศักราช ๑๐๕๒(พ.ศ. ๒๒๓๓)
แลสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ได้ถวายวิสัชนาแก้ปัญหานั้น
เป็นเนื้อเรื่องโดยพิศดารฯ

          ปัญหาที่สมเด็จพระเพทราชาทรงตรัสถามนั้น
มีทั้งหมด ๘ ข้อ ด้วยกันดังนี้

๑. ทางใหญ่อย่าได้เที่ยวจรฯ

๒. ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัดฯ

๓. หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหารฯ

๔. ไม้โก่งอย่าทำกงวานฯ

๕. ช้างสารอย่าผูกกลางเมืองฯ

๖. ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้นฯ

๗. ถ้าจะให้ล่มต้องบรรทุกแต่เบาฯ

๘. ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียฯ

         อัฏฐธรรมปัญหาเหล่านี้
ตามที่ปรากฏในคำวิสัชนา
จะเห็นได้ว่า
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ไม่เคยได้ยินมาก่อน
จึงสันนิษฐานได้ว่า
มิใช่เป็นปัญหาอันรู้จักกันแพร่หลายในครั้งนั้น
เช่นจะมีอยู่ในหนังสือเรื่องใดๆ เป็นต้น
หรือจะเป็นปัญหาที่ได้มาจากที่อืน
เช่นเมืองพม่า เขมร มอญ ลาว
ก็เหลือที่จะคาดคะเนได้ว่า
ปัญหาทั้ง ๘ ข้อนี้เดิมมาจากที่ใด

         น่าจะเป็นไปได้ว่า
เป็นทำนองพระราชนิพนธ์
ของสมเด็จพระเพทราชาเอง
เพราะถ้าเป็นของผู้อื่นเรียบเรียงถวาย
เห็นจะคงไม่กล้าใช้โวหารเช่นนั้น
ถ้าเป็นจริงอย่างนั้นแล้ว
ผู้อ่านก็จักได้ชื่อว่า
ได้อ่านพระราชนิพนธ์
ของสมเด็จพระเพทราชาเป็นครั้งแรก
ควรจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง
         สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
องค์นี้จะเห็นได้ในคำอาราธนาว่า
สมเด็จพระเพทราชาทรงเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง
ถึงกับยกย่องว่าเป็นอาจารย์ทีเดียว
และน่าจะเป็นองค์เดียวกันกับ
อาจารย์ของเจ้าฟ้าตรัสน้อย
พระราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา
ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพงศาวดาร
กล่าวว่าเป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฏก
คัมภีร์เลขยันต์
คาถาอาคมสรรพวิทยาคุณต่างๆเป็นอันมาก

         สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์องค์นี้
อยู่วัดพุทไธสวรรค์
กุฏิที่ท่านอยู่เป็นตำหนัก
มีภาพจิตรกรรมฝาผนังข้างใน
เห็นจะเป็นของสมเด็จพระเพทราชา
ทรงสร้างพระราชทาน
 ปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่ฯ

หนังสืออัฏฐธรรมปัญหานี้
มีต้นฉบับหลวง
อยู่ในหอพระมณเฑียรธรรม
และที่หอสมุดวชิรญาณ
เห็นว่าเป็นหนังสือที่เก่า
และเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ
ใคร่ต่อการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์
จึงได้นำมาพิมพ์ไว้มิให้สาปสูญไป
แต่ต้องขออภัยต่อท่านผู้อ่านไว้ด้วย
เพราะหนังสืออัฏฐธรรมปัญหานี้
ได้พิมพ์ตามต้นฉบับ
ของจดหมายเหตุกรุงศรีอยุธยา
ฉบับพิมพ์ครั้งที่๒
ร.ศ.๑๓๑(พ.ศ. ๒๑๕๕)
ทั้งอักขระวิธี และทั้งบาลีปกรณ์
ซึ่งจะไม่ถูกต้อง
ตามหลักเกณฑ์และวิชาการนัก
แต่ก็พอได้ใจความ
จึงขออนุรักษ์
ตามหนังสือจดหมายเหตุกรุงศรีอยธยาเอาไว้
ขอขอบคุณและขออนุโมทนาฯ

โดยพระเมธีธรรมาจารย์
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม

พระราชปุชฉาของสมเด็จพระเพทราชา ข้อที่ ๑
พระราชปุชฉาของสมเด็จพระเพทราชา
พุทธศักราช ๒๒๓๓
ในวันอังคาร เดือน ๘ ขึ้ึ้นค่ำหนึ่ง ปีมเมียตรีนักษัตร

พระราชสมภารเจ้า นิมนต์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์
ให้เฉลยปัณหาปฤษณาธรรม ๘ ประการนี้

 ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร

ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด

หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร

ไม้โกงอย่าทำกงวาน

ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง

ถ้าจะให้เปนลูกให้เอาไฟสุมต้น

ถ้าจะให้ล่มต้องบันทุกแต่เบา

ถ้าจะเรียนโหรให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสีย


อนึ่งข้าพระเจ้าทุกวันนี้แสวงหาแต่ปฤษณาฉนี้
ด้วยข้าพระเจ้าฉิบหายเขลาปัญญานัก
จะทำประโยชน์ในชั่วนี้ ข้าพระเจ้ากลัวไภย ๔ ประการ
คือทุคคติไภย กิเลศไภย วัฏไภย อุปวาทไภย
แลข้าพระเจ้าจะแสวงหาแต่ประโยชน์ซึ่งจะไปข้างหน้า
ทุกวันนี้ข้าพระเจ้ามีเสบียงบรรทุกสำเภา
พอเลี้ยงอาตมาไปกว่าจะถึงฝั่งฟากโน้น
ด้วยยากแต่ต้นหนและนายเข็ม
ด้วยต้นหนข้าพระเจ้านี้ชั่วนัก
แลสมเด็จเจ้าสิเปนอาจารย์แห่งข้าพระเจ้า
แลข้าพระเจ้าขอความรู้ที่จะปฤกษาต้นหน
จะช่วยข้าพระเจ้าแล่นสำเภาไปให้ถึงฝั่งฟากข้างโพ้น
อย่าให้มีอันตรายกลางทางนั้นได้
กราบไหว้พระอาจารย์เจ้าออกมาเถิด

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ขอถวายพระพร
จำเริญพระราชศิริสวัสดิ์พิพัฒมงคลพระชนมศุขจงทุกประการ
แด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ผู้ประเสริฐ
ด้วยทรงพระกรุณาพระราชทานปฤษณา ๘ ประการ
ให้อาตมาภาพพิจารณาถวาย
อาตมาภาพยินดียิ่งนักหนาด้วยปฤษณานี้
อาตมาภาพมิได้พบมิได้เห็นแต่ก่อน แต่จะได้ฟังก็หามิได้
แลอาตมาภาพพิจารณาตามกิจคดีโลก เปนโลกโวหาร
ก็จะเปนอันหาแก่นสารหาประโยชน์มิได้
ด้วยอาตมาภาพได้รับพระราชเสาวนีว่า

ทุกวันนี้เสบียงข้าพเจ้า
บรรทุกสำเภาพอเลี้ยงอาตมาไปกว่าจะถึงฝั่งฟากโพ้นแล้ว
ด้วยยากแต่ต้นหนแลนายเข็ม

เหตุดังนี้อาตมาภาพจะขอพระราชทานพิจารณาอรรถแห่งปฤษณานี้
ตามพุทธฎีกาสมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าตรัสเทศนานั้นถวาย
จึงจะเปนต้นหน แลนายเข็มผู้หมั้นสันทัดฉลาด
อาจสามารถเพื่อจะนำสำเภาเภตรา
คือพระบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ
ให้เสด็จพระราชดำเนิน
ข้ามสมุทรสาครอรรณพสงสาร
คือจตุรโอฆทั้ง ๔ ประการอันมีนามบัญญัติ
คือ กาโมโฆ  ภโวโฆ  ทิฏโฐโฆ  อวิชโชโฆ
อกุศลธรรมทั้ง ๔ ประการนี้
ย่อมท่วมทับสัตว์ให้จมอยู่ในสงสารสาคร
อันฦกแลกว้างขวางยิ่งนักหนา
แลมิอาจเพื่อจะข้ามด้วย
สำเภาเภตรานาวายานอันเที่ยวทางชลธี
แลมีต้นหนแลนายเข็มอันเปนปรกตินั้นได้
แลพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ย่อมข้ามสงสารสาครสมุทนั้น
ด้วยพระธรรมนาวา  อันกล่าวคือพระปัญญา
อันตรัสรู้พระจตุราริยสัจธรรม ๔ ประการ
อันเปนนาวายานอันลำ้เลิศประเสริฐ
ยิ่งกว่านาวายานทั้งปวงอันมีในโลกนี้
อันว่าพระธรรมนาวาคือ
พระปัญญาอันตรัสรู้พระจตุราริยสัจนี้
ก็มีแต่ในกาลเมื่อ
สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าบังเกิดในโลกนี้
จึงมีพระธรรมนาวา เหตุดังนี้

๑) อาตมาภาพ จะขอพระราชทานถวายวิสัชนาในประถมปัณหา
ซึ่งว่า ทางใหญ่อย่าเที่ยวจรนี้
ด้วยมีพระพุทธฏีกา
สมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้า
เมื่อได้ตรัสแก่สัพพัญญุตญาณแล้ว
แลตรัสเทศนาโปรดปัญจวัคคี
มีพระโกณฑัญเถรเปนประธาน
ในอิสีปตนมฤคทายวัน
มีพระพุทธฏีกาตรัสดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อันว่าทางสองทางนี้
เป็นทางลามกอันชั่ว
อันถดถ่อยยิ่งนักหนา
แลบุคคลผู้เปนบรรพชิต
ผู้จะบรรเทาบาปธรรมทั้งปวงเสีย
แลจะให้ถึงพระนิพพานด้วยฉับพลันนั้น
อย่าพึงส้องเสพ
เมาะว่าอย่าพึงได้ท่องเที่ยว
จรไปในทางสองทางนี้
แลทางสองทางนี้คือสิ่งใด
จึงตรัสวิสัชนาดังนี้

อันว่ากอประด้วยกามศุข
ในเบญจกามคุณทั้งหลาย
นั้นเปนอันชั่วถ่อย
เปนของชาวบ้าน
เปนของปุถุชน
มิใช่เปนของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
กอประด้วยหาประโยชน์มิได้
อันว่ากอประด้วยกามคุณศุขนี้
ก็เปนทางใหญ่ยาวยิ่งนักหนา
เหตุว่าบุคคลผู้กอประด้วยความศุขนั้น
ก็เที่ยวตายเที่ยวเกิด
เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร
หากาลที่จะสุดมิได้
ดุจบุคคลผู้เที่ยวจรไปในทางอันใหญ่
อันยาวแลหากาลที่จะถึงที่สุดมิได้นั้นแล
อธิบายว่ากอประด้วยกามศุขนี้
เปนทางใหญ่ อันลามก
 อันชั่ว ถดถ่อย
ประการหนึ่งแลฯ

อันว่าประด้วยวัตรปฏิบัติ
อันให้เกิดทุกลำบากแก่อาตมานั้น
คือวัตรปฏิบัติแห่งเดียรถีนิครณฐ์ทั้งหลาย
มิได้เปนวัตรปฏิบัติ
แห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย
แลกอประด้วยหาประโยชน์มิได้นี้
ก็เปนทางใหญ่
ทางยาวยิ่งนักหนา อันหนึ่ง
เหตุว่าบุคคลผู้ปฏิบัติผิดนั้น
ก็จะเที่ยวตาย เที่ยวเกิด
เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร
หากาลที่จะถึงที่สุดมิได้
ดุจบุคคลเที่ยวจร
ไปในทางอันใหญ่ยาว
แลหากาลที่จะถึงที่สุดมิได้นั้น

อธิบายว่า
กอประด้วยวัตรปฏิบัติอันผิดนี้
เปนทางใหญ่เปนทางอันลามก
อันชั่วถ่อยประการหนึ่งฯ
วิสัชนาให้รู้แจ้งว่า
กามสุขัลลิกานุโยค
แลอัตตกิลมถานุโยคนี้
เปนทางใหญ่อย่าให้เที่ยวจรไปนั้นแล

ขอถวายพระพร
ให้ทราบในพระญาณ
ด้วยปฤษณานี้ชื่อว่า อวุตตสิทธิ
ในคำอันมิได้กล่าวนั้น
ก็สำเร็จด้วยคำอันกล่าวแล้วว่า
ทางใหญ่อย่าเที่ยวจรนั้น
แม้นกล่าวแต่เพียงเท่านี้
แลมิได้กล่าวว่า
ให้เที่ยวจรแต่ทางอันอื่นกว่าทางใหญ่นี้ก็ดี
คำนี้ก็สำเร็จด้วยคำว่าใหญ่อย่าเที่ยวจรนั้น
ทางนี้ห้ามแต่ทางใหญ่อันเดียวนั้น
มิได้ห้ามทางอันอื่นกว่าทางใหญ่นั้น
เหตุดังนั้นนักปราชญ์ผู้มีปัญญา
พึงรู้ตามพุทธฎีกาอันตรัสเทศนาว่าฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อันว่ามัชฌิมปฏิบัติ
อันพระตถาคตตรัสรู้นี้
มิได้แปดปนด้วยกามขุลลิกานุโยค
อันเปนลามก
ดุจทางอันกอประด้วยเปือกตม
แลอาจมเปนอสุจินั้น
แลมัชฌิมปัตติบัตินี้
มิได้แปดปนอัตตกิลมถานุโยค
อันเปนที่เกิดทุกข์ลำบาก
ดุจทางอันกอประด้วย
หลักตอเสี้ยนหนาม
แลจะไต่ตามเที่ยวจร
ไปเปนอันยากนัก
แลมัชฌิมปฏิบัตินี้
ประพฤติเปนไปใน
ท่ามกลางแห่งทางทั้งสองนั้น
แลมัชฌิมปฏิบัตินั้นคือ
พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการ
อันพระถาคตตรัสโถมนา
ด้วยพุทธฎีกาว่าฯ


ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าทางคือ
พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้
เสฏ์โฐเปนทางอันประเสริฐนักหนา
ยิ่งกว่าทางทั้งปวง อันว่าทางคือ
พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์ ๘ ประการนี้
เปนทางอันตรงอันซื่อไปสู่นิพพาน
มิได้คดคลาดแคล้วจากนิพพาน
อันว่าทางคือ
 พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้
เปนทางอันเดียวมิได้เป็นสองทาง
อันว่าสมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้าก็ดี
พระปัจเจกโพธิเจ้าก็ดี
พระอรรคสาวกเจ้าก็ดี
พระอสีติมหาสาวกเจ้าก็ดี
พระปรกติสาวกเจ้าก็ดี
พระอริยเจ้าทั้งปวงนี้
ก็ย่อมไปสู่นิพพานด้วยทาง
คือ พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้ทางเดียว
มิได้ไปสู่นิพพานด้วยทางอื่นกว่านี้มิได้
อันว่าทางคือ พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้
ก็เปนไปเพื่อจะให้บริสุทธิ์แห่งญาณทัศนะ
คือ โสดามรรค โสดาผลนั้น
อันว่าทางคือ พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้
ก็ยังเสนามารให้หลง
เมาะว่าอกุศลธรรม
อันเปนเสนาแห่งกิเลสมารนั้น
มิอาจเพื่อจะเอาพระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนั้น
เปนอารมณ์ได้ดุจแมลงวัน
มิอาจเพื่อจะบินไปจับ
ลงไปในก้อนเหล็กแดง
อันเผาด้วยถ่านเพลิงร้อนอยู่ฉนั้น
เหตุดังนั้นจึงว่า
พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
ยังเสนามารให้หลง
มิให้รู้แห่งไปในทาง
คือ พระอัฏฐังคิกมรรคธรรมนั้นแล
อันว่าท่านทั้งหลายจงเที่ยวจรไป
เมาะว่าจงปฏิบัติตามทาง
คือ พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้เถิด
ท่านทั้งหลายจักกระทำ
ซึ่งที่สุดแห่งวัฏทุกข์ทั้งปวงนั้นแล
อันว่าพระตถาคตตรัสรู้ด้วยพระสยมภูญาณ
ว่า พระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการนี้
ย่อมย่ำยีเสีย ถอนเสียซึ่งปืนยาพิษ
คือราคตัณหาอันบังเกิด
ในสันดานแห่งสัตว์ทั้งหลาย
แล ยอกเสียดแทงจิตรแห่งสัตว์ทั้งหลาย
ให้เปนทุกข์ร้อนรนกระวนกระวายลำบาก
ดุต้องปืนกำทราบอันชุบด้วยยาพิษฉนั้น
ครั้นเจริญพระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการ
ให้บังเกิดในสันดานในกาลเมื่อใด
อันว่าราคตัณหาดุจปืนยาพิษนั้น
ก็รงับดับหายในกาลเมื่อนั้นแล
พระตถาคตตรัสเทศนา
ให้แจ้งแก่ท่านทั้งปวงดังนี้
แม้อันว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี
ก็ย่อมตรัสเทศนาดังนี้
อันว่าบุคคลทั้งหลายหมู่ใด
แลปฏิบัติตามพระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการ
บุคคลทั้งหลายหมู่นั้น
ก็พ้นจากบ่วงมารนั้นแล
อันว่าบุคคลผู้มีปัญญา
เลงเห็นซึ่งประมาทนั้นว่าเปนที่เกิดไภย
ครั้รเลงเห็นดังนั้นแล้ว
ก็พึงเจริญพระอัฏฐังคิกมรรคธรรม
อันกอประด้วยองค์แปดประการ
บุคคลผู้นั้นก็จะพ้นจาก
ไภยอันตรายทั้งปวงนั้นแล
อันนี้เปนคำสั่งสอน
แห่งสมเด็จพระสรรเพ็ชพุทธเจ้า
ทั้งปวงทุกๆพระองค์แลฯ
อาตมภาพถวายวิสัชนาประถมปัณหา
ด้วยพระธรรมเทศนานี้
เพื่อจะเปนต้นหนแลนายเข็ม
สำหรับสำเภาเภตรา
คือพระบวรอาตมาพระองค์์ผู้ประเสริฐ
วิสัชนาประถมปฤษณาสำเร็จเท่านี้ก่อนแล

การเดินทาง...ควรเตรียมอะไรไปบ้าง


เรา ก็แค่...เตรียมตัวเดินทางกันไว้แต่เนิ่นๆเท่านั้น
แล้วเราจะเอาอะไรไปดีล่ะ

สิ่งที่ต้องเตรียมอย่างที่หนึ่ง...


ขอยกข้อธรรม  ตอนหนึ่ง
ที่ได้จากการถ่ายทอดระหว่างจิตสู่จิต
ระหว่างพระมหากัสสปะต่อหลวงปู่ชอบ ฐานสโม

อ่านแล้วชอบมาก จึงบันทึกไว้ ...อ่านอีก

คืนหนึ่งขณะที่หลวงปู่ชอบเข้าสมาธิภาวนาอยู่
ก็ปรากฏนิมิตเห็นพระมหากัสสปะค่อยๆลอยมา
ในนิมิตนั้นหลวงปู่ลุกขึ้นแสดงความเคารพ
กราบพระมหากัสสปะอย่างตื้นตันใจ
ท่านแสดงธรรมต่อหลวงปู่ชอบตอนหนึ่ง
ดังนี้

ท่าน(หลวงปู่ชอบ)ควรดูวาระจิต
ที่คิดเป็นภัยกับตัวเอง
แม้นิดก็ควรทราบว่าเป็นภัย
และมีทางกำจัดให้สิ้นไป

ภัยภายในมีพิษสงยิ่งกว่าภัยภายนอก
แม้อะไรๆทั้งสามโลกธาตุ
จะยกพลยกพวกมาบังคับ
ไม่ให้ธรรมเป็นผลแก่ผู้ปฏิบัติชอบ

ธรรมต้องเป็นธรรม
และให้ผลโดยธรรมอยู่ตลอดไป
เมื่อการปฏิบัติถูกต้องดีงามยังมีอยู่

สิ่งที่มีอำนาจ สามารถปิดกั้นมรรคผลนิพพานได้
โดยไม่เลือกกาล สถานที่ และบุคคลนั้น
นั่นคือสัจธรรมที่มีอยู่ในตัว

สัจธรรมเบื้องต้นอันเป็นฝ่ายผูกมัด คือ ทุกข์กับสมุทัย
ทั้งสองนี้แล คือสัตว์โลกผู้ไม่รู้จักเป็นจักตาย
เพราะฤทธิ์มันบีบคั้น สั่งสม ไม่มีวันอิ่ม
คือตัวปิดกั้นมรรคผลนิพพาน
ไม่ให้เกิดขึ้นภายในใจสัตว์
ที่ยังชอบส่งเสริมมันอยู่


ทุกข์ เมื่อเกิดขึ้นภายในใจสัตว์
ย่อมทำให้หมดสติปัญญาความคิด
ที่เคยเฉลียวฉลาดก็กลายเป็น
ปิด ตัน อั้น ตื้อไปหมด ไม่มีทางออก
นอกจาก นั่งเฝ้า นอนเฝ้าทุกข์


แสดงความทุรนทุรายไปตามเรื่องของคนไม่มีทางออก
หรือไม่สนใจแสวงหาทางออกที่ถูกต้องเท่านั้น

สมุทัย คือความคิดปรุง หรือวาดภาพเอาเองต่าง
โดยมีตัณหาสามตัว คือ
กามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา
เป็นผู้นำให้คิดปรุง แบบไม่มีงบประมาณ
จนเลยขอบเขต และขนทุกข์มาเผาลนจิตใจ
ให้กลายเป็นไฟที่ก่อแล้วดับไม่ได้
ยังเสริมให้แสดงเปลวขึ้น
จนกลายเป็นไฟเผาโลกไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด

ตัณหาทั้งสามนั้นแล
คือเครื่องปิดกั้นมรรคผลนิพพานได้อย่างมิดชิดปิดตาย
ไม่มีความสว่างใดสามารถกำจัดลงได้
นอกจากสัจธรรมนี้เท่านั้น ที่สามารถรื้อถอนสมุทัย
ความมืดมนให้สูญสิ้นไป

สัจธรรมที่เป็นฝ่ายแก้
คือนิโรธกับมรรค
คือเครื่องมือแก้ สมุทัยทุกชนิด
ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนได้

นิโรธ ย่อมทำหน้าที่ดับทุกข์ไปเป็นลำดับ
ตามอำนาจของมรรค
คือศีล สมาธิ ปัญญา ที่มีกำลัง
เมื่อมรรคมีกำลังพอ
กิเลสย่อมหาที่ซ่อนตัวอยู่ไม่ได้
กลายเป็นความดับทุกข์ไปโดยสิ้นเชิง

มีนิโรธกับมรรคนี้เท่านั้น
เป็นผู้ทำหน้าที่รื้อถอนกิเลส
ความเชื่อสัจธรรมของพระพุทธเจ้า
ซึ่งเต็มไปด้วยธรรมของจริง
กับความเชื่อลมๆแบบไม่มีน้ำมีเนื้อ
มีผลต่างกัน

2.08.2555

บัวพ้นน้ำ

"พุทโธ"
ของชีวิตแต่ละคนอาจมีเป็นแสนๆเป็นล้านๆครั้ง
แต่จะมีเพียงหนึ่ง"พุทโธ"ครั้งสำคัญ
ที่พลิกชีวิตให้กระจ่างในธรรมตลอดไป

พระรัตนตรัยเปรียบเสมือนพระอาทิตย์
สาดแสงสว่างขับไล่ความมืดมิดให้หายไป
มีพลังดึงดูดมหาศาล จับจิตจับใจ
จนไม่สามารถหันเหจิตใจไปทางอื่นได้
ยิ่งมีเมตตาเเท่าไร ก็ยิ่งเข้าใกล้พระธรรมมากเท่านั้น
เพราะเมตตาเป็นตัวบ่งบอกว่า ความเห็นแก่อัตตามีมากน้อยเท่าไร
การแผ่เมตตาทำได้ง่ายแต่เข้าถึงจิตใจยาก
แม้แต่พระอริยะเจ้าบางท่าน กว่าจะเข้าใจเรื่อง"เมตตาธรรม"
ก็เกือบพลาดท่าให้กับอัตตาที่ติดแน่นด้วยโทสะ

การแผ่เมตตาให้บังเกิดผล โดยให้ทำตนและจิตใจให้เหมือนมารดาที่เลี้ยงลูก ให้ความรัก เอ็นดู สงสาร
มุ่งหวังให้ลูกสุขกายสบายใจ
อันเป็นความรักที่บริสุทธิ์ไม่มีพิษภัย
และไม่ต้องการผลตอบแทนจากลูก

 ถ้าเราแผ่เมตตาเหมือนกับพระอาทิตย์กำลังส่องแสง
ไม่ได้เลือกชุมชน สรรพสัตว์ยากดีมีจน จะใกล้หรือไกล
ก็ได้รับความอบอุ่นเท่ากัน
เมตตานั้นจะมีพลังสูงยิ่ง
ใครจะได้รับมากน้อยสุดแต่วาสนาบารมีของผู้นั้น

อย่างน้อยเราควรมีศีลห้า และศีลนั้นควรบริสุทธิ์
หากมีศีลบริสุทธิ์ ก็ต้องรักษาจิตให้บริสุทธิ์ด้วย
ระวังอย่าให้จิตเอนเอียงไปหารากเหง้าแห่งกิเลส

ต้องตรวจความเห็นของตนว่า
มีความบริสุทธิ์หรือไม่
เมื่อความเห็นของเราตรงต่อคุณธรรมจริง
จิตก็สงบเป็นสมาธิง่าย


สติปัฏฐานเป็นที่ตั้งของ
สมาธิ สติ สัมปชัญญะ
และปัญญา ในคราวเดียวกัน
นับเป็นบันไดขั้นแรก
ที่เริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติธรรม
จนถึงขั้นสุดท้าย
ที่ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องดำรงสติให้มั่นคง
ที่ละเล็กทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง




เหมือนเริ่มต้นด้วยน้ำเพียงหยดเดียว
หากเรามีสติเพียงหยดเดียว
บนทะเลทรายแล้วปล่อยทิ้ง
เท่ากับสิ่งที่ฝึกมา
ไม่ว่าจะกี่สิบปี
ก็ล้วนเสียเวลาเปล่า

แต่ถ้าเราค่อยๆเพิ่มน้ำทีละหยดจนเต็มแ้ก้ว
จากแก้วมาเป็นโอ่ง
จากโอ่งเป็นสายน้ำที่ต่อเนื่องไม่ขาดสาย
สามารถพลิกฟื้นทะเลทราย
กลายเป็นดินอุดมแห่งนิพพานได้ในที่สุด


ทั้งยังเป็นเนื้อนาบุญให้สัตว์โลกอื่น
ได้พักพิงอาศัยอีกด้วย

ต้องเข้าใจพระไตรลักษณ์ตั้งแต่ต้น
เพื่อกันการหลงทาง
แม้จะเกิดวิปัสสนูกิเลส
ทำให้ผู้ปฏิบัติหลงสำคัญ
ว่าตนเองเข้าถึงภูมิธรรมสูงแล้วก็ตาม
พระไตรลักษณ์ที่พิจารณามาตลอด
จะช่วยยับยั้งว่า ธรรมะ-ตัวตนที่ปรากฏนั้น
เข้าข่ายไตรลักษณ์หรือไม่




"ดินหนุนดิน คือสังขารทั้งหลาย
ที่มีวิญญาณครอง และไม่มีวิญญาณครอง
เพราะธาตุทั้งสี่รวมกัน โดยมีธาตุดินเป็นธาตุนำ
เพราะเป็นของแข็งเหมือนเอาดินก่อก่ายกันขึ้นมา
ส่วนธาตุนอกนั้นเป็นธาตุอาศัย"

"อริยธรรม"ไม่ได้ตั้งอยู่บนหัวหลักหัวตอ
ขี้ดิน ขี้หญ้า ฟ้าแดดดินลม
พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวเดือนที่ไหน
ตั้งอยู่ที่คนนี่เอง ไม่เลือกสถานที่อริยาบท"

"กิเลสเท่ามหาสมุทร แต่ความเพียรเท่าฝ่ามือ
มันห่างไกลกันขนาดไหน
คนสมัยนี้ เพียงใช้ฝ่ามือแตะมหาสมุทร
ทำความเพียรเพียงเล็กน้อย
แต่หมายมั่นปั้นมือว่าจะข้ามโลกสงสาร
เมื่อไม่ได้ตามใจหวัง
ก็หาเรื่องตำหนิศาสนาและกาลสถานที่

~หลวงปู่มั่น~



การฟังธรรม
ไม่จำเป็นต้องฟังจากครูบาอาจารย์เสมอไป
เห็นอะไรดี อะไรชั่ว
ก็น้อมเข้ามาสอนตัวสอนตน
ก็จะได้อุบายเหมือนกัน


อย่าประมาทลืมตัวมัวเมาในความชั่ว
จงยกจิตให้สูงขึ้นด้วยความมีสติ
ละชั่ว ทั้งทางกาย วาจา ใจ
หมั่นใส่ใจในบุญในกุศลสุจริตธรรม


นำความชั่วออกด้วยสติวินัย
ทำกาย วาจา ใจ ให้สะอาด
เหมือนแก้วมณีสดใสเป็นประภัสสร
ถ้าเกิดมาชาติหน้าจะได้สมบัติดี
มีมนุษย์สมบัติไม่วิบัติ

แน่ใจต่อทางพ้นทุกข์ไม่สงสัย
แม้ในขณะยังไม่พ้นทุกข์ก็ตาม



ข้าวงอกขึ้นมาเพราะมีอะไรเป็นเชื้อพาให้เกิด
ใจที่พาให้เกิด- ตายไม่หยุดหย่อน
    ก็น่าจะมีอะไรเป็นเชื้ออยู่ภายใน
เช่นเดียวกับเมล็ดข้าว
   เชื้อนั้นถ้าไม่ถูกทำลายเสียที่ใจให้สิ้นไป
   จะต้องพาให้เกิดตายไม่หยุด
ก็อะไรเป็นเชื้อของใจเล่า
ถ้าไม่ใช่ กิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน

หลวงปู่ขาว อนาลโย


นักปราชญ์ จะไม่หลงงมงาย
อยู่กับความรู้ภายนอกอันเป็นโลกีย์อภิญญา
จุดหมายปลายทางของปวงปราชญ์ราชบัณฑิต
อยู่ที่การกำจัดอาสวกิเลส
ที่หมักดองอยู่ในกมลสันดานของเราให้หมดสิ้นไป
สิ้นไปโดยไม่เหลือเชื้อต่างหาก



พระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายที่เป็นอัจฉริยบุคคล
ท่านชอบอยู่ในป่าเปลี่ยว
อยู่ในถ้ำ เงื้อมผา รุกขมูล ต้นไม้
อยู่ในป่าชัฏ อยู่ในป่าช้า
อันเป็นสถานที่เตือนบอกถึงความตาย
ทุกวัน ทุกเวลา



การเกิดตายของสัตว์โลกเกลื่อนไปทั่วดินแดน
ไม่มีอะไรที่ไหนจะมากกว่าป่าช้าของสัตว์
ที่ตั้งหน้าตั้งตาตายกัน



แม้ที่เรากำลังนั่งอยู่นี้
ก็คือป่าช้าของสัตว์ชนิดต่างๆทั้งสิ้น
ไม่มีที่ว่างที่ไม่มีป่าช้าของสัตว์แทรกอยู่
แม้แต่ในตัวเรา ตัวท่านก็คือป่าช้าของสัตว์เราดีๆนี่แล
ก็เมื่อทุกหนทุกเเห่ง
มีแต่ที่เกิดที่ตายของสัตว์เช่นนี้
เราจะหาความสบายที่ไหนกัน



ถ้าธรรมเป็นเหมือนผลไม้
เป็นเหมือนบริษัทห้างร้าน
เป็นเหมือนสิ่งต่างๆในแดนสมมติ
ที่ตกอยู่ในกฏแห่งอนิจจัง
ธรรมก็ล้มหายตายซากไปนานแล้ว
ไม่มีใครได้ดื่มรส
แม้เพียงผ่านชิวหาปราสาทคือใจชั่วขณะเลย


หลวงปู่ชอบ ฐานสโม



"ทั้งหมดข้างบนนั้นเป็นเพียงการบันทึกการอ่านนะคะ
ก็เพื่อจะได้กลับมาอ่านแล้วอ่านอีกจนกว่าจะพอใจ
เพื่อนๆก็จะได้อ่านด้วย
ใครหลายคนที่ยังไม่เคยอ่าน ได้อ่านแล้ว ชอบ ก็ยินดีด้วยค่ะ"


บันทึกบางตอนจากหนังสือ"วินาทีบรรลุธรรม"